กลางเดือนพฤศจิกายน มีเยาวชนคนหนึ่งถามพ่อว่า “วัดของเราแต่งต้นคริสต์มาสหรือยังคะ ทุกปีเห็นแต่งช้ามาก ตามห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ แต่งเสร็จแล้ว... ได้ฟังเพลงคริสต์มาสด้วย”

พ่อตอบเธอไปว่า “แต่งกลางเดือนธันวาคมครับ”
 
เธอตอบกลับว่า “ช้าไปมั๊ยคะ”

พ่อจึงเปิดหาความหมายของ “ต้นคริสต์มาส” จากโทรศัพท์มือถือ ปรากฏว่ามีการประชาสัมพันธ์ขายต้นคริสต์มาสขนาดต่าง ๆ ล้างสต็อก ลดราคา

“ต้นคริสต์มาส” ในวัฒนธรรมของชาวคริสต์ หมายถึง ต้นไม้ในสวนสวรรรค์ ซึ่งอาดัมและเอวาไปหยิบผลไม้มากิน และทำบาปไม่เชื่อฟังพระเจ้า (เทียบ ปฐมกาล 3:1-6)

ตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 ชาวคริสต์แสดงละครการบังเกิดของพระเยซู ที่หน้าวัด ถึงความหมายของคริสต์มาส และเอาต้นไม้ต้นหนึ่งไว้ตรงกลางเพื่อประดับฉาก แสดงถึงบาปกำเนิดของอาดัมและเอวา ต้นไม้ที่ใช้เป็นต้นสน เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่หาง่ายที่สุดในประเทศเหล่านั้น

ต่อมาชาวบ้านประดับบ้านด้วยต้นคริสต์มาส แขวนลูกแอปเปิ้ล ขนม และของขวัญ อย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ ในบ้านชาวคริสต์

ศตวรรษที่ 16 มีการเอาเทียนมาประดับ และมีไฟกระพริบไว้ที่ต้นคริสต์มาส

ปัจจุบันเรานิยมทำกันอยู่ เพราะมีความหมายถึงพระเยซูเจ้า ผู้เปรียบเสมือนต้นไม้แห่งชีวิต (ปฐมกาล 2:9) ที่เขียวสดเสมอในทุกฤดูกาล ซึ่งหมายถึงนิรันดรภาพของพระเยซูเจ้า ความสว่างของพระองค์เสมือนแสงเทียนที่ส่องในความมืด

ทั้งยังหมายถึงความชื่นชมยินดี และความสามัคคีที่พระเยซูเจ้าประทานให้ เพราะต้นไม้นั้นเป็นจุดรวมของครอบครัวในเทศกาลนั้น
(จากวิกิพีเดีย)

ตามห้างและร้านค้าเขาต้องการขายของต่าง ๆ ไม่ใช่เทศกาลครสิต์มาสเท่านั้น ยังเป็นเดือนสุดท้ายของปี อย่างไรก็ดี มีบรรยากาศทำให้เราหลายคนคิดถึง และชอบบรรยากาศคริสต์มาส

ตามวัดคาทอลิก โรงเรียน และหมู่บ้านของเรา กลางเดือนธันวาคม น่าจะประดับต้นคริสต์มาส และถ้ำพระกุมาร ซึ่งมีบุคคลตามเรื่องราวการประสูติของพระเยซูเจ้า ในพระวรสารโดยนักบุญมัทธิว 1:18-2:12 และโดยนักบุญลูกา 2:1-20

ที่พ่อเสนอกลางเดือนธันวาคม คือ 15 ธันวาคม เพราะเรามีนพวาร 9 วันเตรียมฉลองคริสต์มาส วันที่ 16-24 ธันวาคม ที่วัดของเรา ซึ่งเราชาวคริสต์ทั่วโลกฉลองวันที่ 25 ธันวาคม

น่าเห็นใจประเทศที่มีสงคราม ไม่สามารถฉลองคริสต์มาสอย่างเคย เมื่อพิจารณาดี ๆ ครอบครัวของพระเยซู ก็ต้องลี้ภัยเหมือนกัน ขอให้เราเห็นใจครอบครัวที่ยากจน ลี้ภัย ด้วยนะครับ
                                                                                                                                                   ฟ.วีระ อาภรณ์รัตน์