เราคาทอลิกถือว่าการสมรสระหว่างคาทอลิกและคาทอลิก เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์คือเป็นศีลสมรส ส่วนการสมรสระหว่างคาทอลิก และ ผู้ที่นับถือศาสนาอื่นที่ไม่ได้รับศีลล้างบาป
มิใช่ศีลศักดิ์สิทธิ์ แต่เป็นพิธีสมรส ที่ถูกต้อง
คณะกรรมการพิธีกรรมแห่งประเทศไทย ได้แปลพิธีศีลสมรสที่สมณกระทรวงพิธีกรรมได้ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 1969 ให้เป็นภาษาไทย (พิมพ์ครั้งที่ 2) วันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ.
1992
เลขที่ 8 เขียนไว้ดังนี้ ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งเป็นคาทอลิก และอีกฝ่ายหนึ่งไม่ใช่คาทอลิก แต่ได้รับศีลล้างบาปแล้ว ให้ใช้พิธีสำหรับประกอบพิธีสมรสที่ไม่มีมิสซา.. แต่ถ้าเห็นสมควรและสมณะผู้ปกครองท้องถิ่นที่อนุมัติเห็นชอบ จะให้พิธีสำหรับประกอบพิธีสมรสในระหว่างมิสซาก็ได้ ... แต่ไม่ใช่ให้ฝ่ายที่ไม่ใช่คาทอลิกรับศีลมหาสนิทตามกฎทั่วไป
ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งเป็นคาทอลิก และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ไม่ได้รับศีลล้างบาป (ไม่ว่าจะเป็นผู้เตรียมตัวรับศีลล้างบาป หรือเป็นผู้ที่มิใช่คริสตชน) ต้องใช้พิธี (เลข 55-66) คือ วจนพิธีกรรมและพิธีสมรส เท่านั้น
เพราะเหตุนี้ คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพิธีกรรม สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย จึงได้จัดพิมพ์หนังสือ พิธีบูชาขอบพระคุณสำหรับพิธีศีลสมรส และพิธีสมรส (ตุลาคม ค.ศ. 2005)
ที่ผ่านมา เราได้ประกอบพิธีสมรสในมิสซา
ซึ่งไม่สอดคล้องกับสิ่งที่กำหนดไว้ในหนังสือพิธีสมรส สภาพระสังฆราชฯได้ทำจดหมาย (28 พ.ค 2018)ขอคำแนะนำจากสมณกระทรวงพิธีกรรมฯ ที่กรุงโรม และได้ให้คำตอบ (11 ก.ค 2018) ว่าให้ปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในหนังสือพิธี
(เหมือนคาทอลิกประเทศอื่นๆทั่วโลก) สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทยได้ประชุม(เดือนกันยายน 2018 และมีนาคม 2019) สรุปว่า ในกรณีพิธีสมรส (ระหว่างคาทอลิก และผู้นับถือศาสนาอื่น) ไม่ต้องมีมิสซา
โดยให้เริ่มปฏิบัติทุกสังฆมณทล ตั้งแต่อาทิตย์ที่ 1 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้าคือ วันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 2019 เป็นต้นไป
สำหรับตัวบทพิธีสมรส คณะกรรมการพิธีกรรมฯ กำลังจัดพิมพ์อำนวยความสะดวกแก่เรา
จึงขอพี่น้องพระสงฆ์อธิบายให้ครูคำสอน หัวหน้าคริสตชน และสัตบุรุษได้เข้าใจโดยทั่วกัน
พระสังฆราช วีระ อาภรณ์รัตน์
|