พระคาร์ดินัลวิลเลี่ยม  เลวาดา  สมณมนตรีของสมณกระทรวงเรื่องข้อความเชื่อ ได้จัดประชุมนานาชาติ เรื่อง “มุ่งสู่การเยียวยารักษาและการฟื้นฟู”  กรณีสงฆ์ทำผิดทางเพศกับเด็ก  ณ มหาวิทยาลัยเกรโกเรียน กรุงโรม  ระหว่างวันที่ 6-9  กุมภาพันธ์  2012  ผู้ร่วมประชุมเป็นบรรดาพระสังฆราชและบรรดาอธิการเจ้าคณะจากประเทศต่างๆ  วัตถุประสงค์เพื่อค้นหาวิถีทางที่ดีที่สุดในการช่วยเหลือบรรดาผู้ถูกกระทำ เพื่อปกป้องเด็กๆ และการอบรมพระสงฆ์ปัจจุบันและอนาคต  ให้ตระหนักถึงอาชญากรรมนี้ และเพื่อกำจัดเรื่องนี้จากบรรดาพระสงฆ์

        เนื่องจากสองปีที่ผ่านมา  สมเด็จพระสันตะปาปาได้ประกาศปีแห่งพระสงฆ์  (19 มิ.ย. 2009 – 2010)  เพราะมีกรณีละเอียดอ่อนและเร่งด่วน ที่บางประเทศมีพระสงฆ์หลายองค์ทำผิดทางเพศต่อเด็ก  ซึ่งเป็นการทำร้ายผู้ถูกกระทำ  และมีผลยาวนานทั้งชีวิต  จึงมีการรณรงค์ภาวนา หาทางแก้ไข และส่งเสริมความศักดิ์สิทธิ์ของพระสงฆ์

        พระคาร์ดินัลวิลเลี่ยม  เลวาดา  ได้ออกจดหมายเวียนเมื่อปีที่แล้ว (3 พฤษภาคม 2011) ส่งถึงสภาพระสังฆราชคาทอลิกทั่วโลก  ให้ทำแนวปฏิบัติเกี่ยวกับกรณีสงฆ์ทำผิดทางเพศกับเด็ก ซึ่งบุญราศีสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2  ได้เคยออกเอกสาร เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2001 ชี้แจงอาชญากรรมเรื่องนี้มาแล้ว

        สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์  ที่ 16  ได้ทรงถูกโจมตีจากสื่อมวลชนในเรื่องนี้ ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา  และได้รับรายงานในช่วงสิบปีที่ผ่านมามากกว่า 4,000 ราย  จึงทรงมอบให้สมณกระทรวงเรื่องข้อความเชื่อติดตามรับผิดชอบ ดำเนินการกับพระสงฆ์ผู้กระผิด  หาวิธีการเยียวยาผู้ถูกกระทำ ส่งเสริมโปรแกรมปกป้องเด็กและเยาวชน กระตุ้นบรรดาพระสังฆราชให้จัดการอบรมบรรดาสัตบุรุษในชุมชนแห่งความเชื่อ ช่วยรับผิดชอบเยาวชนและร่วมมือกับสันตะสำนัก และสภาพระสังฆราชจัดการอบรมที่เหมาะสมสำหรับพระสงฆ์ปัจจุบัน และบรรดาสามเณรซึ่งจะเป็นพระสงฆ์ในอนาคต

        จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา  บรรดาพระสังฆราชและอธิการเจ้าคณะนักบวช ต้องสนใจวิกฤติเรื่องสงฆ์ทำผิดทางเพศกับเด็ก สภาพระสังฆราชหลายประเทศได้ออกแนวปฏิบัติแล้ว เช่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา บราซิล สหราชอาณาจักรอังกฤษ  ไอร์แลนด์ เยอรมัน  เบลเยี่ยม  ฝรั่งเศส  อาฟริกาใต้  ออสเตรเลีย  และนิวซีแลนด์

        แนวปฏิบัติแบ่งเป็น 3  ส่วน  คือ ข้อควรพิจารณาทั่วไป  บทสรุปทางกฎหมายพระศาสนจักร  และข้อแนะนำสำหรับบรรดาพระสังฆราชในการดำเนินการ     สำหรับข้อควรพิจารณาทั่วไป มีดังต่อไปนี้

        1. ผู้ถูกกระทำผิดทางเพศ
          
พระศาสนจักรต้องช่วยเยียวยาผู้ถูกกระทำ  และต้องปกป้องเด็กจากการทำผิดนี้ พระสังฆราชและพระสงฆ์ต้องพร้อมเสมอที่จะช่วยรักษาและคืนดีกับผู้ถูกกระทำ  ต้องรับฟัง  รับรู้ความทุกข์ และช่วยเขาให้เห็นพระพักตร์ของพระคริสตเจ้า  ผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรักเมตตา

        2. การปกป้องเด็ก
           พระศาสนจักรบางแห่งได้สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก  จัดการอบรมผู้เกี่ยวข้อง งานอภิบาลในพระศาสนจักร ในโรงเรียน  และในวัด  ให้พระสงฆ์และฆราวาสเพิ่มความตระหนักถึงปัญหานี้  และป้องกันมิให้เกิดขึ้น การอบรมพ่อแม่ผู้ปกครอง และตัวเด็กเอง  เกี่ยวกับเรื่องนี้ในสังคมทั่วๆ ไป

        3. การอบรมพระสงฆ์และนักบวชในอนาคต
           เราตระหนักถึงความสำคัญของการอบรมที่เหมาะสมสำหรับพระสงฆ์และนักบวช บุญราศีสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2  ได้ประกาศว่า  “เราไม่มีที่ในฐานะพระสงฆ์ และชีวิตนักบวชสำหรับผู้จะทำร้ายเยาวชน” (23 เมษายน 2002 – ตรัสกับบรรดาพระคาร์ดินัลอเมริกัน)

        ต้องสนใจพิเศษ  หากมีผู้สมัครบวช  ย้ายจากบ้านเณรแห่งหนึ่งไปอีกแห่งหนึ่ง จากสังฆมณฑลหนึ่งไปอีกสังฆมณฑลหนึ่ง หรือจากนักบวชและสังฆมณฑล

        4. การสนับสนุนพระสงฆ์
           พระสังฆราชมีหน้าที่ปฎิบัติต่อพระสงฆ์ฉันบิดาและพี่น้อง  จัดการอบรมต่อเนื่อง ใส่ใจชีวิตภาวนา  ให้กำลังใจและร่วมมือทำงานรับใช้สัตบุรุษของพระคริสตเจ้า

        หากมีพระสงฆ์ถูกกล่าวหา หรือพบว่ากระทำผิดเรื่องนี้ ให้จำกัดการปฏิบัติหน้าที่สงฆ์  และจำกัดสภาพแวดล้อมระหว่างการพิจารณาขั้นต้น

        5. การร่วมมือกับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง
           พระศาสนจักรต้องร่วมมือกับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง  พิจารณาความผิดตามกฎหมายของรัฐ ต้องรายงานอาชญากรรมนี้ต่อเจ้าหน้าที่ที่เหมาะสม

        พระศาสนจักรทุกส่วนต้องช่วยกันเยียวยารักษาและฟื้นฟูกรณีนี้  อาศัยพระเจ้าทรงช่วยเหลือ  เพื่อ “ทรงรักษาผู้ชอกช้ำใจ ทรงพันบาดแผลให้เขา” (สดุดี 147:3)

                                                                                                                                   พระสังฆราชวีระ  อาภรณ์รัตน์
                                                                               (สรุปจาก L’OSSERVATORE ROMANO, 15 ก.พ. 2012, หน้า 5, 8-9.)
 

Home