ประวัติศาสตร์พระศาสนจักรคาทอลิกไทย เริ่มเมื่อ ค.ศ. 1567 มิสชันนารี่โปร์ตุเกส คณะโดมินิกัน 2 องค์ มาเมืองไทย จนวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1669 (102 ปี) กรุงโรมได้ตั้ง เทียบมิสซังสยาม (Apostolic Vicariate of Siam) และในปี ค.ศ. 1841 (เป็นเวลา 172 ปี) กรุงโรมได้แบ่งมิสซังสยาม เป็น

• มิสซังสยามตะวันออก ซึ่งรวมราชอาณาจักรไทยกับลาว
• มิสซังสยามตะวันตกได้แก่ประเทศมลายุ เกาะสุมาตราและภาคใต้ของพม่า ท่านปัลเลอกัว เป็นประมุขมิสซังไทยตะวันออก และท่านกูร์เวอซี เป็นประมุขมิสซังไทยตะวันตก

ต่อมาอีก 58 ปี ในวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 1899 มีการตั้งมิสซังใหม่แยกจากมิสซังไทย ชื่อ มิสซังลาว อยู่ในความปกครองของสงฆ์คณะมิสซังต่างประเทศกรุงปารีส คือพระคุณเจ้ามารีย์ยอแซฟ กืออาซ

แบ่งมิสซัง – ขยายงานธรรมทูต ในสมัยท่านเรอเน แปร์รอส ได้พัฒนามิสซังกรุงเทพฯ ให้เจริญเติบโต จนกระทั่งขยายออกไปเป็น มิสซังราชบุรี (ค.ศ. 1930) และมิสซังจันทบุรี (ค.ศ.1944)

ข่าวน่าชื่นชมยินดี สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 โปรดให้สถาปนาพระฐานานุกรมในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 1965 โดยแบ่งเขตการปกครองฝ่ายพระศาสนออกเป็น 2 ภาค

ภาคแรก อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ มีสังฆมณฑลในสังกัด คือ ราชบุรี จันทบุรี และเชียงใหม่

ภาคสองอัครสังฆมณฑลท่าแร่ - หนองแสง มีสังฆมณฑลในสังกัด คือ อุบล อุดร และนครราชสีมา

สภาพโดยย่อของแต่ละสังฆมณฑล
1. อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ได้รับการตั้งขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1669 ประกอบด้วย 11 จังหวัด
2. สังฆมณฑลราชบุรี ได้รับฐานะเทียบสังฆณฑล วันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1941 ฯพณฯ กาเยตาโน ปาซอตตี ประกอบด้วย 19 จังหวัดภาคใต้
3. สังฆมณฑลจันทบุรี แยกจากมิสซังกรุงเทพฯ วันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1944 เป็นมิสซังแรกที่ปกครองโดยคณะสงฆ์พื้นเมือง ฯพณฯ ยาโกเบ แจง เกิดสว่าง เป็นประมุข ประกอบด้วย 6 จังหวัด
4. สังฆมณฑลเชียงใหม่ ประกาศตั้งเป็นมิสซังเมื่อ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 1959 มี ฯพณฯ ลูเซียน ลากอสต์ เป็นประมุข ประกอบด้วย 8 จังหวัดภาคเหนือ (รวมอุตรดิตถ์ด้วย)
5. สังฆมณฑลนครสวรรค์ ประกาศเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1967 ฯพณฯ มิแชล ลังเยร์ เป็นประมุข ประกอบด้วย 12 จังหวัด
6. สังฆมณฑลสุราษฏร์ธานี แยกจากสังฆมณฑลราชบุรี เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1969 ฯพณฯ เปโตร คาเร็ตโต เป็นประมุของค์แรก ประกอบด้วย 15 จังหวัด สังฆมณฑลราชบุรี จึงเหลือ 4 จังหวัด

ภาคอัครสังฆมณฑลท่าแร่ - หนองแสง
มิสซังลาว แยกจากมิสซังกรุงเทพฯ ปี ค.ศ. 1899 และ 21 ธันวาคม ค.ศ. 1950 เปลี่ยนชื่อ เป็น ท่าแร่
1. อัครสังฆมณฑลท่าแร่ - หนองแสง ฯพณฯ มิแชล มงคล ประคองจิต เป็นประมุข ประกอบด้วย 3 จังหวัด
2. สังฆมณฑลอุบล แยกจากมิสซังท่าแร่ วันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1953 ประมุของค์แรก คือ ฯพณฯ เกลาดีโอ บาเย ประกอบด้วย 5 จังหวัด
3. สังฆมณฑลอุดร เป็นสังฆมณฑล เมื่อ 18 ธันวาคม ค.ศ. 1965 ประมุของค์แรก คือ ฯพณฯ แคลเรนซ์ เจมส์ ดูฮาร์ต ประกอบด้วย 4 จังหวัด
4. สังฆมณฑลนครราชสีมา ประกาศตั้งมิสซังนครราชสีมา วันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 1965 ฯพณฯ อาแลง วังงาแวร์ เป็นประมุข ประกอบด้วย 3 จังหวัด
จาก วิกตอร์ ลาร์เก, ประวัติพระศาสนจักรคาทอลิก ในประเทศไทย
สำนักพิมพ์แม่พระยุคใหม่, มิถุนายน 1996/2539, 332 หน้า.

บทความนี้ผมได้แรงบันดาลใจจากคุณพ่อธีรพล กอบวิทยากุล ที่เป็นวิทยากรแก่สมาชิกสมัชชาใหญ่ ไปแสวงบุญที่วัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา เมื่อวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 2015 ว่าการแบ่งมิสซังหมายถึงความก้าวหน้าของงานธรรมทูต
++++++++++
พระสังฆราช วีระ อาภรณ์รัตน์
บทความคำสอน 5 นาที
อุดมสาร ปีที่ 39 ฉบับที่ 22 ประจำวันที่ 24-30 พฤษภาคม 2015, หน้า 8, 10.