3. สภาพระสังฆราช
412. ประมวลกฎหมายพระศาสนจักรบัญญัติว่า “สภาพระสังฆราชสามารถตั้งสำนักงานด้านคำสอนซึ่งมีหน้าที่หลักในการให้ความช่วยเหลือแต่ละสังฆมณฑลในเรื่องเกี่ยวกับงานด้านคำสอน”[5] ซึ่งในความเป็นจริงได้ถูกจัดตั้งขึ้นเกือบทุกแห่งแล้ว “ข้อเท็จจริงที่สำคัญต้องระลึกไว้เสมอว่าสภาพระสังฆราชที่มีกรรมาธิการและสำนักงานนั้นมีอยู่เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่บรรดาบิชอปและไม่ใช่เป็นการทำหน้าที่แทนพวกเขา”[6] ดังนั้น สำนักงานคำสอนระดับชาติ (หรือศูนย์คำสอนระดับชาติ) จึงเป็นหน่วยงานที่คอยรับใช้สังฆมณฑลต่างๆ ในเขตปกครองของตน
413. สำนักงานคำสอนระดับชาติต้องดำเนินการเป็นอันดับแรกคือการวิเคราะห์สถานการณ์ของการสอนคำสอนในอาณาเขตของตน ใช้ประโยชน์จากการวิจัยและการศึกษาของศูนย์วิชาการต่างๆ และของผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ด้วย การวิเคราะห์นี้มีจุดประสงค์เพื่อจัดทำโครงการเกี่ยวกับการสอนคำสอนระดับชาติ และเพราะเหตุนี้การดำเนินการจะต้องกระทำร่วมไปกับสำนักงานระดับชาติของสภาพระสังฆราชด้วยโครงการระดับชาตินี้ก่อนอื่นหมดอาจหมายถึง การร่างแนวปฎิบัติและคำแนะนำต่างๆ เกี่ยวกับการสอนคำสอน เครื่องมือที่มีลักษณะสะท้อนและแสดงภาพประกอบซึ่งเป็นที่มาของแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่สำหรับการสอนคำสอนของพระศาสนจักรท้องถิ่น และยังเป็นจุดอ้างอิงสำหรับการอบรมบรรดาครูคำสอนด้วย[7] ยิ่งไปกว่านั้น บนพื้นฐานของคำแนะนำต่างๆ สำนักงานด้านคำสอนจะต้องดูการจัดเตรียมหนังสือคำสอนของท้องถิ่นที่แท้จริง
414. ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสังฆมณฑล สำนักงานคำสอนระดับชาติ ตามความต้องการและความเป็นไปได้จะจัดให้มีการอบรมแก่ผู้อำนวยการสำนักงานสังฆมณฑล ทั้งด้วยการประชุม การสัมมนาและสิ่งพิมพ์ต่างๆ นอกจากนี้ สำนักงานคำสอนระดับชาติจะต้องจัดโอกาสต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสอนคำสอนในระดับชาติ ประสานงานกิจกรรมต่างๆ ของสำนักงานสังฆมณฑล และให้การสนับสนุนเป็นพิเศษแก่สังฆมณฑลที่มีอุปกรณ์เกี่ยวกับการสอนคำสอนน้อยที่สุด ท้ายที่สุดก็คือการประสานกับบรรณาธิการและผู้เขียน เพื่อให้แน่ใจว่าเนื้อหาที่ตีพิมพ์นั้นสอดคล้องกับความต้องการของการสอนคำสอนในประเทศนั้นๆ
415. ในระดับนานาชาติและระดับทวีปก็เช่นเดียวกัน ได้เกิดหน่วยงานต่างๆ ขึ้นในสภาพระสังฆราชในการประสานความร่วมมือโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยไตร่ตรองและเผยแพร่งานอภิบาล แผนกคำสอนก็ดำเนินงานอยู่ในหน่วยงานต่างๆ เหล่านี้ด้วย เพื่อให้การสนับสนุนแก่บรรดาบิชอปและสภาพระสังฆราชทั้งหลาย