2. หนังสือคำสอนท้องถิ่น
401. หนังสือคำสอนท้องถิ่นเป็นเครื่องมือที่มีคุณค่าสูงสำหรับการสอนคำสอน ซึ่งถูกเรียกร้องให้ต้องนำเอาความใหม่ของพระวรสารไปสู่วัฒนธรรมต่างๆ ของประชาชาชน พระศาสนจักรจะต้องสื่อสารพระวรสารเข้าสู่วัฒนธรรมเหล่านั้น ในทำนองที่ชาวบ้านธรรมดาๆ สามารถเข้าถึงได้ เพื่อที่พวกเขาจะได้พบกับ พระวรสารในที่ที่พวกเขาเจริญชีวิตอยู่ ในวัฒนธรรมของเขาเอง และในโลกของเขา หนังสือคำสอนจะเป็นจุดอ้างอิงสำหรับการสอนคำสอนในบริบทพิเศษราวกับว่านี่เป็นผลแห่งกระบวนการปรับวัฒนธรรมเข้าสู่ความเชื่อที่ดำเนินการโดยพระศาสนจักรท้องถิ่น ดังนั้นจึงเป็นการแสดงออกซึ่งความเข้าใจของประชาชนถึงความเชื่อ รวมถึงการแสดงออกทางวัฒนธรรมที่แท้จริงของพวกเขาด้วย หนังสือคำสอนที่ใช้ในท้องถิ่นอาจเป็นไปในระดับสังฆมณฑลเขตศาสนปกครอง ภูมิภาค หรือระดับประเทศ หนังสือคำสอนที่ใช้ในสังฆมณฑลจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากบิชอป ผู้นำพระศาสนจักรท้องถิ่น[10] หนังสือคำสอนระดับภูมิภาค หรือระดับชาติที่ออกโดยสภาบิชอปต้องได้รับการอนุมัติจากสันตะสำนัก[11]
402. หนังสือคำสอนจะมีปัจจัยเด่นอยู่ 2 ประการ ที่เป็นคุณสมบัติทางการและเป็นแบบองค์ประกอบ รวมถึงการสรุปขั้นพื้นฐานของความเชื่อ หนังสือคำสอนท้องถิ่นซึ่งเป็นการแสดงออกถึงการกระทำแห่งอำนาจการสอนของบิชอป ประมุขพระศาสนจักรท้องถิ่น เป็นตำราทางการของพระศาสนจักร คุณสมบัติทางการแห่งคำสอนเหล่านี้สร้างความแตกต่างเชิงคุณภาพเมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องมืออื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ในวิธีการสอนคำสอน เช่น ตำราการสอนคำสอนที่ไม่เป็นทางการ คำแนะนำสำหรับครูคำสอน ยิ่งไปกว่านั้นอีกหนังสือคำสอนทุกชนิดเป็นการสรุปที่มีองค์ประกอบและขั้นพื้นฐานของความเชื่อ ซึ่งเหตุการณ์พื้นฐานและความจริงแห่งพระธรรมล้ำลึกแห่งคริสตชนถูกนำมาแสดง เป็นการรวบรวมอย่างเป็นระเบียบ ซึ่งเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับการเผยแสดงของคริสตชนและขนบธรรมเนียมของพระศาสนจักร แต่ถูกนำเอามาตบแต่งให้เป็นคำสอนที่คำนึงถึงสภาพที่เป็นรูปธรรมเป็นหลัก แม้ว่าสิ่งนี้จะมีความสำคัญมาก แต่ก็ยังไม่ถึงกับสูงสุด ความจริงเครื่องมือและทรัพยากรอื่นก็เป็นสิ่งจำเป็นด้วย
403. หนังสือคำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิกเป็นตำราที่โดยชื่อในตัวเองก็เป็นจุดอ้างอิงสำหรับหนังสือคำสอนท้องถิ่น แม้จะมีการเชื่อมโยงกันแต่ก็อยู่ในคนละระดับ หนังสือคำสอนในระดับท้องถิ่น ซึ่งเนื้อหาต้องอิงอยู่กับหนังสือคำสอนของพระศาสนจักรยังหมายถึงมิติอื่นๆแห่งกระบวนการสอนคำสอนด้วยการสอนต้องเป็นไปตามบริบทของท้องถิ่นโดยคำนึงถึงการปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมของผู้เรียนคำสอนด้วย มีข้อเสนอที่ช่วยการเตรียมโครงการสอนคำสอนต่างๆ ดังนั้นจึงไม่ได้เป็นเพียงการสรุปแค่หนังสือคำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิก
404. หนังสือสอนคำสอนระดับท้องถิ่นต้องสอนความเชื่อโดยคำนึงถึงวัฒนธรรม ซึ่งผู้เรียนคำสอนเคารพนับถือ ยังมีความสำคัญที่ต้องใส่ใจต่อรูปแบบที่เป็นรูปธรรมของการดำเนินชีวิตแห่งความเชื่อในสังคมใดสังคมหนึ่ง ดังนั้นหนังสือคำสอนต้องรวมปัจจัยต่างๆ ถึง“การแสดงออกดั้งเดิมแห่งชีวิตคริสตชน การเฉลิมฉลองและความคิด”[12] ซึ่งเกิดขึ้นจากประเพณีวัฒนธรรมของตน และเป็นผลแห่งการปรับวัฒนธรรมในพระศาสนจักรท้องถิ่น หนังสือคำสอนในระดับท้องถิ่นต้องสร้างหลักประกันว่าพระธรรมล้ำลึกแห่งคริสตชนต้องนำมาสอนในทำนองที่สอดคล้องกับจิตใจ และอายุของผู้เรียนคำสอน โดยคำนึงถึงประสบการณ์
พื้นฐานแห่งชีวิตของเขา และใส่ใจต่อพลวัตแห่งการเจริญเติบโตที่เหมาะสมของแต่ละคน หนังสือคำสอนจึงเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมส่งเสริมการเดินทางแห่งการอบรม และเป็นการสนับสนุนครูคำสอนในศิลปะแห่งการติดตามผู้ที่มีความเชื่อสู่วุฒิภาวะในชีวิตคริสตชน
405. แน่นอนนี่เป็นความคิดที่ดีสำหรับพระศาสนจักรท้องถิ่นเพราะความรับผิดชอบที่ต้องปรับวัฒนธรรมเข้าสู่ความเชื่อ ในการที่จะจัดพิมพ์หนังสือคำสอนของตนเอง เป็นหน้าที่ในการไตร่ตรองเชิงอภิบาลของพระศาสนจักรท้องถิ่นรวมทั้งความคิดสร้างสรรค์ในการตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไรเกี่ยวกับมิติ 4 ประการแห่งความเชื่อคริสตชน[13] โดยโครงสร้างเนื้อหาและแบ่งภาคส่วนไปตามกลยุทธ์พิเศษ ในรูปแบบที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้เด็กๆ สามารถเจริญเติบโตขึ้นโดยยอมรับและพัฒนาขึ้นในความเชื่อ ต้องใช้การพิจารณาลักษณะเดียวกันนี้เกี่ยวกับหนทางต่างๆ ที่สารแห่งความเชื่อจะถูกนำมาแสดงและเครื่องมือที่จะนำมาใช้ด้วย
406. ในการประกาศพระวรสารแบบใหม่ ณ เวลานี้ พระจิตทรงเรียกร้องคริสตชนให้ต้องมีความกล้าหาญ เพื่อที่จะ “พบเครื่องหมายใหม่ สัญลักษณ์ใหม่ เนื้อหาใหม่ เพื่อรับการถ่ายทอดพระวาจา”[14] ด้วยการรับรู้อย่างดีว่า พระคริสตเจ้าทรงเป็น ‘ข่าวดีนิรันดร’ (วว 14: 6) และพระองค์ทรงเป็น ‘องค์เดียวเสมอ ทั้งอดีตปัจจุบันและตลอดไป’ (ฮบ 13: 8) ความมั่งคั่งและความงดงามของพระองค์ไม่มีวันหมดสิ้น พระองค์ทรงเยาว์วัยเสมอ และทรงเป็นที่มาของความใหม่อยู่ตลอดเวลา...เมื่อใดที่เราแสวงหาการกลับมายังต้นกำเนิด เพื่อฟื้นฟูความสดชื่นเมื่อแรกเริ่มของพระวรสาร เมื่อนั้นเราจะพบหนทางใหม่ วิธีการที่สร้างสรรค์และรูปแบบการแสดงออกอื่นๆ รวมทั้งเครื่องหมายที่สื่อสารได้มากขึ้นและคำพูดที่มีความหมายใหม่สำหรับโลกทุกวันนี้”[15]
แนวทางที่จำเป็นในการได้รับการอนุมัติจากสันตะสำนักสำหรับหนังสือคำสอนและการเขียนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคำแนะนำเกี่ยวกับคำสอน
407. กระบวนในการรับการอนุมัติจากสันตะสำนัก เป็นการรับใช้ซึ่งกันและกันระหว่างพระศาสนจักรท้องถิ่นกับพระศาสนจักรสากล ในมุมมองหนึ่งนี่เป็นการเปิดโอกาสให้สันตะสำนักที่จะเสนอและตั้งข้อสังเกตซึ่งในการตัดสินพันฒนาคุณภาพเกี่ยวกับเนื้อหาของหนังสือคำสอน และการอนุญาตอื่นๆที่พระศาสนจักรท้องถิ่นต้องชี้แจง และให้เหตุผลต่อสันตะสำนักเกี่ยวกับเนื้อหาของคำสอนและลักษณะพิเศษของแต่ละท้องที่ “การอนุมัติก่อนการประกาศใช้จากสันตะสำนัก” ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกเรียกร้องสำหรับหนังสือคำสอนต่างๆ ที่สภาพระสังฆราชทั้งหลายผลิตออกมานั้น มีความหมายว่าหนังสือเหล่านี้เป็นเอกสารที่พระศาสนจักรสากลใช้ประกาศและถ่ายทอดพระวรสารในสถานการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมที่ต่างกันไปในแต่ละที่ที่พระศาสนจักรถูกส่งไป และ “ทำให้เกิดพระศาสนจักรเฉพาะถิ่นต่างๆโดยการพิสูจน์ตัวเองในสถานการณ์เหล่านั้น” การอนุมัติใช้หนังสือคำสอนเล่มหนึ่งจึงเป็นการยอมรับความจริงที่ว่า สิ่งนี้คือเอกสารของพระศาสนจักรสากลที่ใช้สำหรับวัฒนธรรมและสถานการณ์เฉพาะถิ่นหนึ่ง”[16]
408. ด้วยสมณลิขิตชื่อ “Fides per doctrinam” ความรับผิดชอบสำหรับการสอนคำสอนถูกมอบให้กับสมณสภาเพื่อส่งเสริมการประกาศพระวรสารใหม่ซึ่งจะเป็นผู้ให้อนุญาตแห่งสันตะสำนักสำหรับหนังสือคำสอน และเอกสารอื่นๆที่เกี่ยวกับการสอนคำสอน การอนุมัติของสันตะสำนักเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับตำราต่อไปนี้ :
- หนังสือคำสอนแห่งชาติ
- คู่มือการสอนคำสอนแห่งชาติ หรือคำแนะนำอื่นที่มีคุณค่าดุจตำราที่ใกล้เคียงกัน
- หนังสือคำสอนและคู่มือระดับภูมิภาค
- การแปลหนังสือคำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิกเป็นภาษาท้องถิ่น ภาษาพื้นเมือง
- ตำราวิชาการระดับชาติในภูมิภาคซึ่งคำสอนของศาสนาคาทอลิกมีคุณค่าด้านคำสอนหรือที่ซึ่งตำราดังกล่าวถูกนำมาใช้ในการสอนคำสอน