2. การสอนคำสอนในบริบทของการฟื้นฟูเอกภาพคริสตศาสนจักรสัมพันธ์และความหลากหลายทางศาสนา
343. ปรากฎการณ์ของการย้ายถิ่นฐานของมนุษย์ด้วยหลากหลายเหตุผลไม่ว่าจะเป็นเพื่อการศึกษา งานอาชีพ และการลี้ภัยออกจากสถานการณ์ของความรุนแรงหรือสงคราม ทำให้เห็นมีความเป็นไปได้ในการพบปะกับผู้คนที่มีความแตกต่างกันในดินแดนใหม่ นอกเหนือจากพระศาสนจักรในที่ต่างๆ ชุมชนคริสตชน หรือศาสนาต่างๆ ที่เป็นที่รู้จักอยู่แล้ว การอยู่ร่วมกันของความเชื่อต่างๆ ตามโรงเรียน มหาวิทยาลัยและในพื้นที่อื่นๆ ของชีวิต หรือการเพิ่มจำนวนขึ้นของการแต่งงานระหว่างผู้ที่ถือศาสนาต่างกันนั้น กระตุ้นให้พระศาสนจักรต้องทบทวนงานอภิบาลและความริเริ่มในการสอนคำสอนของพระศาสนจักรโดยคำนึงถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
การสอนคำสอนในบริบทของการฟื้นฟูเอกภาพคริสตศาสนจักรสัมพันธ์
344. ธรรมชาติของพระศาสนจักรนั้นเป็นความเป็นจริงในเชิงเสวนา[26] ในลักษณะที่ว่าพระศาสนจักรเป็นภาพลักษณ์ของพระตรีเอกภาพ และถูกทำให้มีชีวิตชีวาโดยองค์พระจิตเจ้า มุ่งมั่นอย่างไม่เปลี่ยนแปลงที่จะส่งเสริมความเป็นหนึ่งเดียวกันของบรรดาศิษย์ทุกคนของพระคริสตเจ้า เช่นเดียวกับกิจกรรมต่างๆ ของพระศาสนจักร การสอนคำสอนในตัวเองมีมิติของการนำโดยมิติเอกภาพของคริสตศาสนจักรสัมพันธ์ อันเนื่องมาจากพลังขับเคลื่อนที่ปลุกเร้าโดยองค์พระจิตเจ้า ผลักดันให้พระศาสนจักรคาทอลิกแสวงหาความเป็นหนึ่งเดียวกันสมบูรณ์กับคริสตจักรอื่นๆ หรือกับความเชื่อคริสตชนตามพระประสงค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า บนพื้นฐานของศีลล้างบาป พระคัมภีร์ ขุมทรัพย์ร่วมกันของความเชื่อ และเป็นพิเศษในปัจจุบันนี้บนประสบการณ์ที่มีร่วมกันของการเป็นมรณสักขี[27] ในแง่หนึ่งการประกาศพระวรสารและการสอนคำสอนเป็นบริการเพื่อการเสวนาและการอบรมเพื่อการสร้างเอกภาพระหว่างคริสตจักร ในอีกแง่หนึ่ง ความทุ่มเทเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวของพี่น้องคริสตชนในตัวเองเป็นวิธีที่น่าเชื่อถือ และเป็นเครื่องมือในการประกาศข่าวดีแก่โลกด้วย[28]
345. การสอนคำสอน เมื่อปรากฏว่ามีบริบทของการแบ่งแยกระหว่างพี่น้องคริสตชน จะต้องเอาใจใส่ในเรื่องต่อไปนี้
ก. ยืนยันว่าการแบ่งแยกนั้นเป็นบาดแผลใหญ่ซึ่งขัดแย้งกับพระประสงค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า และบรรดาผู้ที่เป็นคาทอลิกได้รับเรียกให้มีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นในการฟื้นฟูเอกภาพกับคริสตศาสนจักรสัมพันธ์ ก่อนอื่นใดด้วยการภาวนา (cf UR 1,8)
ข. ต้องอธิบายอย่างชัดเจนด้วยท่าทีแห่งความรักเมตตาถึงคำสอนของความเชื่อคาทอลิก “โดยเคารพเป็นพิเศษต่อลำดับความสำคัญของความจริงต่างๆ และหลีกเลี่ยงวิธีการและการแสดงออกต่างๆ ในการเสนอข้อคำสอนซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคในการทำเสวนากัน”[29]
ค. นำเสนออย่างถูกต้องถึงข้อคำสอนของคริสตจักรอื่นและชุมชนของคริสตจักรต่างๆ โดยชี้ถึงสิ่งที่คริสตชนเชื่อร่วมกัน และอธิบายถึงสิ่งที่ทำให้มีการแบ่งแยกกัน โดยการอ้างถึงประวัติศาสตร์ย่อๆ ยิ่งกว่านั้น เพราะความสำคัญในการให้การศึกษา การสอนคำสอนจึงมีบทบาทในการปลุกเร้าให้มีความปรารถนาในการสร้างเอกภาพแก่ผู้ที่ได้รับการสอนช่วยให้พวกเขาเจริญชีวิตในการติดต่อกับบรรดาบุคคลที่ต่างความเชื่อขณะที่ปลูกฝังเอกลักษณ์คาทอลิกโดยเคารพต่อความเชื่อของบุคคลอื่น
346. เพราะความจำเป็นในการแบ่งปันงานประกาศข่าวดี และไม่ใช่เพียงเพื่อเหตุผลขององค์กรเท่านั้น สิ่งสำคัญคือต้องจัดให้มี “การทำงานร่วมกันด้านการสอนคำสอนระหว่างคาทอลิกและชาวคริสต์นิกายอื่นๆ เป็นการเสริมหลักคำสอนปกติที่ต้องสอนแก่คาทอลิก”[30] การเป็นพยานดังกล่าวของความร่วมมือทางคำสอนระหว่างชาวคริสต์ แม้จะมีข้อจำกัดเพราะความแตกต่างโดยเฉพาะในด้านศีลศักดิ์สิทธิ์ ก็ยังสามารถบังเกิดผลได้ กล่าวคือ “หากเรามุ่งความสนใจไปยังความเชื่อที่รวมเราเป็นหนึ่งเดียวกัน และระลึกถึงหลักการฐานานุกรมของความจริง เราก็จะสามารถเดินไปด้วยความมั่นใจสู่การแสดงออกร่วมกันในการประกาศ การรับใช้ และการเป็นประจักษ์พยาน”[31]
การสอนคำสอนในความสัมพันธ์กับศาสนายิว
347. “เมื่อพระศาสนจักร ประชากรของพระเจ้าในพันธสัญญาใหม่ พิจารณาไตร่ตรองถึงธรรมล้ำลึกของตน ก็พบว่าตนมีพันธะเกี่ยวข้องกับประชากรชาวยิว ที่ “องค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของเราทรงมีพระดำรัสกับเขาเป็นกลุ่มแรก”[32] และตระหนักถึงมรดกส่วนรวมที่มั่งคั่ง ส่งเสริมและแนะนำการเข้าใจซึ่งกันและกัน มิตรภาพและการเสวนา (cf NA 4) อันที่จริง ต้องขอบคุณรากเหง้าของชาวยิวที่ทำให้พระศาสนจักรยึดติดอยู่ในประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้น การเสวนาระหว่างชาวยิวกับชาวคริสต์ หากดำเนินไปด้วยท่าทีที่ถูกต้องและปราศจากอคติ จะสามารถช่วยพระศาสนจักรให้เข้าใจได้ดีขึ้นในแง่มุมต่างๆ ของชีวิตของพระศาสนจักรเอง นำความมั่งคั่งทางชีวิตจิตที่เก็บรักษาไว้ในศาสนายิวให้กลับมาสว่างไสว เป้าหมายของการเสวนานั้นยังรวมถึงการยืนหยัดไม่เห็นด้วยทุกรูปแบบกับการต่อต้านชาวยิว และความทุ่มเทร่วมกันเพื่อสันติภาพความยุติธรรมและการพัฒนาระหว่างประชาชน
348. ด้วยเหตุผลต่างๆ เหล่านี้ การสอนคำสอนก็เช่นเดียวกันต้องสนใจเป็นพิเศษต่อศาสนายิวและต่อประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับลัทธิยิว เอาใจใส่เป็นพิเศษต่อประเด็นสำคัญหลายประการที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ก. สำหรับชาวคริสต์แล้ว ไม่ควรมองศาสนายิวเป็นเพียงแค่อีกศาสนาหนึ่งเท่านั้น เพราะศาสนาคริสต์มีรากฐานมาจากชาวยิว และมีความสัมพันธ์ต่างๆ มากมายของสองธรรมประเพณีที่เป็นสิ่งเดียวกัน กล่าวคือ “พระเยซูเจ้าทรงเป็นชาวยิว ทรงพระชนม์อยู่ในครอบครัวที่ถือธรรมประเพณีชาวยิว และได้รับการหล่อหลอมจากสภาพแวดล้อมทางศาสนายิว”[33]
ข. “พระวาจาของพระเจ้าเป็นความจริงหนึ่งเดียวแบ่งแยกไม่ได้ซึ่งปรากฎเป็นรูปธรรมในบริบททางประวัติศาสตร์ตามลำดับกาลเวลา”[34] สิ่งนี้ซึ่งแสดงให้เห็นการกระทำของพระเป็นเจ้าต่อประชากรของพระองค์ ปรากฏในประวัติศาสตร์ในคัมภีร์โตราห์จนถึงความสมบูรณ์ในองค์พระเยซูคริสตเจ้า
ค. พันธสัญญาเดิมเป็นส่วนที่ทำให้พระคัมภีร์ของชาวคริสต์ครบถ้วน และพระศาสนจักรเป็นประจักษ์พยานถึงความเชื่อในพระเจ้าหนึ่งเดียวผู้ทำพันธสัญญาทั้งสอง ดังนั้นการปฏิเสธอันใดอันหนึ่งเท่ากับขัดแย้งกันระหว่างพันธสัญญาทั้งสอง
ง. พันธสัญญาใหม่ไม่ใช่สิ่งที่มาแทนที่พันธสัญญาที่พระเจ้าทรงกระทำกับชาวอิสราเอล แต่เป็นสิ่งที่ตามมา กล่าวคือพันธสัญญาแรกเริ่มนั้นไม่ได้ถูกเพิกถอนลง (เทียบ รม 11:28-29) และยังคงมีผลอยู่ และถึงซึ่งความสมบูรณ์ในองค์พระเยซูเจ้าในพระธรรมล้ำลึกแห่งการไถ่กู้ของพระองค์
จ. พระศาสนจักรและศาสนายิวไม่สามารถถูกนำเสนอเป็นสองหนทางแห่งความรอดพ้น การประกาศว่าหนทางสู่ความรอดพ้นโดยผ่านทางองค์พระเยซูคริสตเจ้าซึ่งเป็นหัวใจของความเชื่อคริสตชนนั้น ไม่ได้หมายความว่าชาวยิวถูกตัดออกไปจากหนทางความรอด อันที่จริง “พระศาสนจักรเฝ้ารอคอยวันซึ่งพระเจ้าผู้เดียวเท่านั้นที่ทรงทราบ วันที่ประชากรทั้งมวลจะเรียกหาพระเจ้าด้วยเสียงเดียวกัน และรับใช้พระองค์เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (ศฟย 3:9)” (NA 4)
การสอนคำสอนในบริบทของศาสนาอื่นๆ
349. ปรากฎการณ์ของความหลากหลายทางศาสนาไม่เพียงมีอยู่เฉพาะในประเทศต่างๆ ที่ศาสนาคริสต์เป็นคนกลุ่มน้อยเท่านั้น แต่ยังปรากฏในสังคมต่างๆ เช่นเดียวกัน อันเนื่องมาจากการอพยพย้ายถิ่นตลอดช่วงเวลานับสิบปีนี้ เป็นจำนวนมากเท่ากับวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ เศรษฐกิจและสังคมที่จะต้องพิจารณาตัวแปรที่อาจจะต้องยอมรับพร้อมกับปัจจัยอื่นๆ การเผชิญหน้ากับศาสนาต่างๆ ได้เปลี่ยนวิธีที่คริสตชนดำเนินชีวิตตามประสบการณ์แห่งความเชื่อ ทำให้ผู้ที่เชื่อตั้งคำถามเกี่ยวกับความจริงของเนื้อหาของความเชื่อ และเสรีภาพในการเลือก สถานการณ์ปัจจุบันที่เกี่ยวเนื่องกันนี้ ควบคู่ไปกับประเพณีดั้งเดิมของผู้ที่ดำเนินชีวิตตามความเชื่อคริสตชนในฐานะส่วนหนึ่งของชนกลุ่มน้อย กระตุ้นให้พระศาสนจักรพิจารณาถึงความสำคัญของความสัมพันธ์กับศาสนาอื่นๆ ส่วนหนึ่งในมุมมองของการอบรมคำสอนแก่ลูกหลาน ในการไตร่ตรองนี้ พระศาสนจักร “พิจารณาด้วยความเคารพอย่างจริงใจต่อวิธีปฏิบัติและการดำรงชีวิตตลอดจนกฎเกณฑ์และคำสอนต่างๆ ซึ่งแม้จะแตกต่างกันในหลายแง่มุมจากที่พระศาสนจักรถือและกำหนดไว้ แต่บ่อยครั้งก็นำแสงจากองค์ความจริงมาให้” (NA 2)
350. การสอนคำสอนแก่บรรดาคริสตชนที่อาศัยอยู่ท่ามกลางความหลากหลายทางศาสนาจะต้องเอาใจใส่ในเรื่องต่อไปนี้[35]
ก. ทำให้อัตลักษณ์ของผู้มีความเชื่อลึกซึ้งและเข้มแข็งขึ้น เหนือสิ่งอื่นใดในบริบทของชนกลุ่มน้อย ผ่านทางความรู้เรื่องพระวรสารและเนื้อหาความเชื่อของศาสนาอื่น โดยวิธีการต่างๆ ของกระบวนการอันละเอียดอ่อน ของการนำความเชื่อเข้าสู่วัฒนธรรม
ข. ช่วยให้ผู้มีความเชื่อเติบโตขึ้นในการแยกแยะด้วยความเคารพต่อศาสนาอื่นๆ การรับรู้และชื่นชมในเมล็ดพันธุ์แห่งพระวาจาที่มีอยู่ในพวกเขา และละทิ้งสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับความเชื่อคริสตชน
ค. ส่งเสริมให้ผู้มีความเชื่อทุกคนมีพลังแห่งการประกาศข่าวดีในการเป็นประจักษ์พยานถึงความเชื่อของตน ในการทำงานร่วมกันเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในการเสวนาด้วยความอ่อนโยนและจริงใจในการประกาศข่าวดีแห่งพระวรสารอย่างเปิดเผย
351. ควรใส่ใจพิเศษในความสัมพันธ์กับผู้มีความเชื่อในศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะบรรดาที่อยู่ในหลายประเทศที่มีธรรมประเพณีเก่าแก่ของชาวคริสต์ ในการเผชิญกับเหตุการณ์ของลัทธินิยมความรุนแรง (fundamentalism) การริเริ่มในการสอนคำสอนของพระศาสนจักร ควรใช้บุคลากรที่เตรียมพร้อมอย่างเพียงพอเพื่อส่งเสริมความเข้าใจและการพบปะกับชาวมุสลิมด้วยวิธีการที่เหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงภาพรวมที่ผิวเผินและเป็นอันตราย[36]
การสอนคำสอนในบริบทของกลุ่มศาสนาใหม่ๆ
352. ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาและในพื้นที่กว้างใหญ่ของโลก พระศาสนจักร ต้องเผชิญกับปรากฎการณ์การแพร่ขยายของขบวนการทางศาสนาใหม่ๆ ซึ่งรวมถึงความเป็นจริงที่แตกต่างกันอย่างมากและไม่สามารถจำแนกได้ง่าย กลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มที่มีชื่อและที่มาที่แตกต่างกันมาก บางกลุ่มอ้างอิงถึงศาสนาคริสต์ในรูปแบบต่างๆ ในขณะที่แยกจากกันเนื่องจากความแตกต่างด้านหลักคำสอนอย่างมาก ยังมีผู้ที่แสดงเวทมนตร์ ไสยศาสตร์ ลัทธินอกรีตใหม่(neo-paganism) ลัทธิเชื่อภูตผี (Spiritualism) แม้แต่ลัทธิบูชาซาตาน ในที่สุดก็มีกลุ่มอื่นๆ ที่เรียกว่า “กระบวนการศักยภาพของมนุษย์” ที่นำเสนอการเห็นอกเห็นใจและการเยียวยารักษา ในบางกรณีองค์ประกอบต่างๆ ของขบวนการทางศาสนาใหม่ๆ เหล่านี้เป็นการผสมผสานที่ซับซ้อนจากหลายๆ ศาสนาเข้าด้วยกัน[37] ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก “ปฏิกิริยาของมนุษย์ที่มีต่อสังคมวัตถุนิยม บริโภคนิยม และปัจเจกนิยม” และเพื่อเติมเต็ม “ความว่างเปล่าที่หลักความเชื่อในเรื่องเหตุผลทางโลกก่อให้เกิดขึ้น”[38] ในทางกลับกันดูเหมือนจะแสดงให้เห็นถึงความต้องการของบุคคลเหล่านั้นที่ปรากฎสภาพความยากจนและความล้มเหลวในชีวิตของพวกเขา จำเป็นที่จะต้องตระหนักว่าชุมชนชาวคริสต์ไม่ประสบผลเสมอไปในการทำให้ตนมีความหมายต่อคริสตชนเหล่านั้นที่มีความเชื่อที่ไม่หยั่งรากลึก ตื้นเขินและเรียกร้องการเอาใจใส่ดูแล การร่วมก้าวเดิน และมองหาความพึงพอใจต่อความต้องการของพวกเขาในกระบวนการใหม่ๆ
353. ในการเผชิญกับปรากฏการณ์นี้ที่ถือเป็นความท้าทายต่อการประกาศข่าวดี พระศาสนจักรท้องถิ่นถูกเรียกให้ทบทวนตนเองเพื่อจะตีความถึงสิ่งที่ผลักดันให้คริสตชนทั้งหลายหันไปสนใจขบวนการทางศาสนาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาใหม่ เพื่อที่ผู้รับศีลล้างบาปแล้วทุกคนจะได้เปิดตัวเองอย่างต่อเนื่องต่อข่าวดีแห่งพระวรสารของพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้า “น้ำทรงชีวิตที่ดับความกระหายของเขา” (เทียบ ยน 4:5-15) และหยั่งรากลึกในชุมชนคริสตชน งานการสอนคำสอนจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องต่อไปนี้
ก. การประกาศข่าวดีเรื่องพระเยซูเจ้าในฐานะที่เป็นปรีชาญาณของพระเจ้าผู้ซึ่งโดยอาศัยปัสกาของพระองค์ได้ประทานสันติและความชื่นชมยินดีอย่างแท้จริง เป็นข้อเสนอที่มีความหมายสำหรับมนุษย์ทั้งหลาย ซึ่งโดยเฉพาะในปัจจุบันนี้กำลังแสวงหาชีวิตที่สมบูรณ์และกลมกลืม
ข. การพยายามทำให้พระศาสนจักรเป็นชุมชนที่มีชีวิตชีวาและเปี่ยมไปด้วยความเชื่ออย่างแท้จริง ปราศจากรูปแบบของความเย็นชาและว่างเปล่า สามารถให้การต้อนรับและรวมเข้าอยู่ด้วยกัน สนใจต่อบรรดาบุคคลที่มีความทุกข์ยาก ความยากจนและโดดเดี่ยว พร้อมที่จะสนับสนุนการมีส่วนร่วมที่มีคุณค่าของทุกคน
ค. ทำให้แน่ใจในความรู้พื้นฐานด้านพระคัมภีร์และข้อความเชื่อของพระศาสนจักร ทั้งโดยการทำให้พระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์เป็นสิ่งที่เข้าถึงและเข้าใจได้สำหรับทุกคนโดยวิธีการใช้เครื่องมือต่างๆ ที่เหมาะสมในการสอนคำสอน
ง. สนใจต่อสัญลักษณ์ รูปแบบและพิธีการขของพิธีกรรมต่างๆ และที่เป็นศรัทธาประชานิยม ไม่มองข้ามมิติที่ส่งผลในการสัมผัสง่ายมากต่อจิตใจมนุษย์ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อบุคคลที่มีประสบการณ์ของความผิดหวังและมีบาดแผลในจิตใจที่รู้สึกถึงความจำเป็นในการกลับเข้าสู่ชุมชนคริสตชน มีความสำคัญที่จะทำให้พวกเขารู้สึกเป็นที่ต้อนรับมากกว่าถูกตัดสิน และครูคำสอนจะช่วยให้เขาสามารถเปลี่ยนแปลงตนเองและกลับเข้ามาสู่ชุมชนคริสตชนอีกครั้งหนึ่งโดยผ่านทางความพยายามในการชี้แจงและทำความเข้าใจ