ธรรมเนียม (บางประการ) วันปัสกา
บางคนสงสัยว่าทำไมเราเรียก เทศกาลปัสกา (Pasqua) แต่คนทั่วไปเรียก อีสเตอร์ (Easter) ที่เป็นเช่นนี้ เพราะคำว่าปัสกามาจากภาษาฮีบรู (ดู อพยพ 12:43 - 51) และตรงกับภาษาลาติน อิตาเลียน สเปน ส่วนคำว่าอีสเตอร์ เป็นภาษาอังกฤษ ผมจำได้ว่ามาจากภาษาเยอรมัน มีความหมายว่า สีขาว เพราะเทศกาลปัสกา พระสงฆ์ใช้อาภรณ์สีขาวในพิธีกรรม แต่ความหมายปัจจุบัน คือ ฉลองการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า
เทศกาลปัสกา เป็นช่วงเวลา 50 วัน ตั้งแต่วันอาทิตย์ปัสกา (20 เมษายน) จนถึง สมโภชพระจิตเจ้า (8 มิถุนายน) มีธรรมเนียมบางอย่าง ที่ปฏิบัติกันในเทศกาลนี้ คือ
เสื้อผ้าชุดใหม่ ผู้ที่ได้รับศีลล้างบาปในคืนวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์จะสวมชุดสีขาว เป็นเครื่องหมายถึงพระหรรษทานแห่งศีลล้างบาปที่ชำระเขาให้สะอาดจากบาป และเป็นคนศักดิ์สิทธิ์เฉพาะพระพักตร์พระเจ้า เขาจะสวมชุดขาวมาวัดร่วมพิธีกรรมตลอดเทศกาลปัสกานี้ ส่วนผู้ที่ได้รับศีลล้างบาปในปีที่แล้วจะไม่สวมชุดสีขาว แต่เขาจะสวมเสื้อผ้าชุดใหม่เป็นเครื่องหมายถึงชีวิตใหม่หลังจากผ่านการภาวนา และพลีกรรมในเทศกาลมหาพรต เขาเป็นคนใหม่ฝ่ายจิต มีชีวิตที่ดีขึ้นและศักดิ์สิทธิ์ขึ้น
หากวันสมโภชปัสกามีความหมายจริงๆ พ่อแม่ ผู้ปกครองน่าจะเอาใจใส่ลูกแต่งตัวให้เหมาะสมกับวันฉลองใหญ่ใช่ไหมครับ ลูกหลานจะได้เข้าใจความหมาย ชีวิตของเราไม่ได้ว่างเปล่าหรือไร้สาระ แต่เราให้เกียรติและมีความสุขจากการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ เป็นสัญลักษณ์แห่งความรักและความภักดีต่อพระองค์
น้ำเสก พิธีในคืนวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ มีการเสกน้ำ และอนุญาตให้สัตบุรุษนำกลับไปบ้าน ใช้พรมบุคคล บ้าน และห้องต่างๆ บางแห่งมีการอวยพรอาหาร หรือสิ่งของบางอย่างเพื่อให้เป็นมงคลชีวิตในวันฉลองนี้
ไข่ปัสกา (Easter eggs) ในสมัยโบราณ ไข่เป็นเครื่องหมายถึงฤดูใบไม้ผลิ ความอุดมสมบูรณ์ และชีวิต เขาจึงมอบไข่ให้กัน เวลาเปลี่ยนจากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ
ต่อมาในสมัยกลาง มีธรรมเนียมห้ามรับประทานไข่ระหว่างเทศกาลมหาพรต และมีธรรมเนียมมอบไข่ให้กันในวันอาทิตย์ปัสกา แทนที่จะเป็นเครื่องหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ ไข่ปัสกากลับเป็นเครื่องหมายถึงหินปิดพระคูหาที่ฝังพระศพพระเยซู ซึ่งพระองค์ออกจากพระคูหาสู่ชีวิตใหม่แห่งการกลับคืนพระ ชนมชีพ
ปัจจุบัน หลายวัดให้เยาวชนเตรียมไข่ปัสการะบายสีไข่ให้สวยงาม บางประเทศก็ทำไข่ปัสกาด้วยช็อคโกแลต เป็นต้น ประเทศในยุโรปที่มีอากาศเย็น ช็อคโกแลตไม่ละลายง่าย และแจกผู้มาร่วมพิธีวันอาทิตย์ปัสกา
(อุดมสารรายสัปดาห์ ฉบับที่ 17, 20 - 26 เมษายน 2003)
|