จิตมหาสมบัติ
เหตุการณ์ วินาศกรรมในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 11 กันยายน ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อชีวิตจิตใจของคนมากมาย เราได้นำเรื่องนี้มาสนทนากันที่ศูนย์อบรมนักบวชหญิง ในที่สุด คุณนิดา สมาชิกท่านหนึ่งกล่าวว่า " ขอให้เราภาวนาเป็นพิเศษ ดิฉันเชื่อในพลังของการภาวนา "
วันเดียวกันนั้น
คุณธีรพงศ์ มอบหนังสือ จิตมหาสมบัติ พิชิตทุกอย่างที่ขวางหน้า ดร.โจเซฟ เมอร์ฟี เขียน คุณวันชัย ประชาเรืองวิทย์ เรียบเรียง (พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2543) บริษัทซีเอ็ดยูเคชั่นจำกัด
วันนั้นผมเริ่มอ่านหนังสือเล่มนี้
แนะนำกฎ 15 ข้อ แห่งพลังจิตมหาสมบัติ กล่าวถึง การภาวนา พลังแห่งศรัทธา การบำบัดรักษา การปกป้องคุ้มครอง การดลใจ ความกล้าหาญ ความมั่นคงปลอดภัย อาหารใจ ความรัก การควบคุมอารมณ์ ความปรองดองในชีวิตสมรส ความสงบทางใจ ความเจริญรุ่งเรืองอัตโนมัติ ความคิดสร้างสรรค์ และชีวิตอันสมบูรณ์
ผู้เขียนน่าจะเป็นชาวคริสต์แน่ เพราะเขาเชื่อในพระเจ้า และการภาวนา อ่านแล้วทำให้ผมเห็นว่า สอดคล้องไม่ขัดแย้งกับคำสอนและภารกิจของพระเยซูเจ้า แม้ไม่ได้อ้างชื่อพระองค์ ผมคิดถึงข้อคิดของ
คุณพ่อมีเกล การไรซาบาล ถึงเรื่อง การปฏิรูปการศึกษาด้วยจิตตารมณ์พระเยซูคริสตเจ้า ลักษณะที่สำคัญประการแรกของพระองค์ที่ท้าทายเราในปัจจุบันนี้ คือ ความจำเป็นของการภาวนา "
พระเยซูเจ้าทรงเป็นนักภาวนา พระองค์มิได้ทรงเพียงแต่ให้เวลากับการภาวนาอย่างมาก
และสอนให้เราภาวนาเท่านั้น แต่การภาวนายังเป็นวิธีการของพระองค์ในการแสดงออกถึงการถวายสิ้นต่อพระผู้เป็นเจ้าพระบิดา พระองค์ทรงดำเนินชีวิตของพระองค์โดยมีพระผู้เป็นเจ้าประทับอยู่กับพระองค์เสมอ อาหารของพระองค์คือการทำตามพระประสงค์ของพระบิดา (เทียบ ยอห์น 4 : 34) พระองค์ทรงฝากชีวิตและจิตวิญญาณของพระองค์อยู่ในพระหัตถ์ของพระบิดา (เทียบ ลูกา 23 : 46) สำหรับพระองค์การภาวนามิใช่เป็นเพียงกิจกรรมหนึ่งในบรรดากิจกรรมมากมายของแต่ละวัน แต่การภาวนาเป็น วิถีชีวิต ของพระองค์ หากพระเยซูเจ้าทรงมีความหมายสำหรับเราในวันนี้ เราจำเป็นต้องรื้อฟื้นชีวิตภาวนาของเรา "
" พระสงฆ์ นักบวช หรือครูดีๆ มักจะมีความรู้สึกว่าต้องมุ่งงานตลอด 24 ชั่วโมง ไม่สามารถหลบหนีจากงานได้ ชีวิตที่มีแต่งานมักจะนำไปสู่ความอึดอัด ความกดดัน
ความโกรธ โมโห ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเป็นผู้อภิบาลที่ดีสำหรับผู้อื่น การที่ยุ่งอยู่เสมอ ทำให้ไม่มีเวลาสำหรับการสงบนิ่ง และเมื่อไม่มีความสงบนิ่ง ชีวิตจิตของเราก็เริ่มตาย "
คำถามเพื่อการพิจารณาไตร่ตรอง 1. การภาวนามีความสำคัญมากน้อยเพียงใดในชีวิตท่าน ท่านควรพัฒนาตนเองอย่างไร เพื่อจะเป็นบุคคลแห่งการภาวนา
2. ท่านสามารถช่วยนักเรียน หรือเพื่อนให้รู้จักคุณค่าแห่งความสงบเงียบ และการภาวนาได้อย่างไร 3. การภาวนาในรูปแบบใดบ้าง ที่จะเหมาะสมที่สุดสำหรับนักเรียนของท่านในสภาพสังคมปัจจุบัน
(อุดมสารรายสัปดาห์ ฉบับที่ 39, ประจำวันที่ 23 - 29 กันยายน 2001)
|