|
ผู้สืบตำแหน่งเปโตร
พระเป็นเจ้ามีพระประสงค์ให้มนุษย์ทุกคนได้รับความรอดพ้นและเข้าถึงการรู้ความจริงอันสมบูรณ์คือ
พระเยซูคริสตเจ้า จึงจำเป็นต้องมีการประกาศถึงพระคริสตเจ้าไปยังประชากรทุกชาติ ทุกภาษา จนสุดปลายแผ่นดิน
เพื่อให้ข่าวประเสริฐของพระเยซูเจ้าได้รับการรักษาไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์และทรงชีวิตอยู่เสมอในพระศาสนจักร บรรดาอัครสาวกจึงเลือกทายาทไว้ให้สืบตำแหน่งต่อไปคือ พระสังฆราช
"ท่านทั้งหลายจงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา" (มธ 28:19) "พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งพวกท่านไปฉันนั้น" (ยน 20:21)
"ท่านทั้งหลายอภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ได้รับการอภัย ท่านทั้งหลายไม่อภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ไม่ได้รับการอภัยด้วย" (ยน 20:23)
ภาระหน้าที่ของอัครสาวกคือ การเป็นประจักษ์พยานที่ได้รับเลือกสรรถึงการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า การวางรากฐานของพระศาสนจักรและเอาใจใส่สถาปนาทายาทให้สืบสานงานของพระคริสต์ต่อไป บรรดาอัครสาวกจึงมอบหมายให้ผู้ร่วมงานใกล้ชิดอยู่กับพวกเขา ปฏิบัติภาระหน้าที่ของพวกเขาให้สำเร็จและเสริมสร้างกิจการที่พวกเขาได้เริ่มต้นไว้ให้มั่นคง ให้ดูแลสมาชิกของพระศาสนจักร หล่อเลี้ยงพระศาสนจักรให้คงอยู่ หลังจากที่พวกเขาได้ถึงแก่กรรมแล้ว (เทียบ กจ 20:28, พระศาสนจักร ข้อ 20)
ภาระหน้าที่ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงมอบหมายด้วยพระองค์เองแก่เปโตรอัครสาวกคนแรก ถูกกำหนดมาให้ถ่ายทอดแก่ทายาทสืบต่อไป และประกอบกันขึ้นเป็นภารกิจที่ยืนยงถาวรฉันใด ภาระหน้าที่ซึ่งมอบไว้แก่อัครสาวกทั้งหลายให้เป็นผู้นำของพระศาสนจักร เป็นภาระซึ่งการอภิเษกของพระสังฆราชจักต้องเป็นหลักประกันความยั่งยืนตลอดกาลฉันนั้น พระศาสนจักรจึงสอนว่า ผู้ใดเชื่อฟังบรรดาพระสังฆราชก็เท่ากับเชื่อฟังพระคริสต์ ผู้ใดสลัดทิ้งพวกเขาก็สลัดทิ้งพระคริสต์ และองค์พระผู้ทรงส่งพระคริสต์ลงมาด้วย (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก 77, 833, 860-862)
ชื่ออื่นของพระสันตะปาปา
โป๊ป (Pope มาจากภาษากรีก แปลว่า "บิดา") ภาษาไทยใช้เรียก สันตะปาปา แปลว่า "บิดาผู้ศักดิ์สิทธิ์" สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอมหาราช (ค.ศ.440-461) เป็นองค์แรกที่ใช้เป็นทางการ
พระสังฆราชแห่งโรม ก่อนจะได้รับเลือกให้เป็นสมเด็จพระสันตะปาปา ต้องได้รับศีลบวชเป็นพระสังฆราชก่อน สภาสังคายนาวาติกันที่ 1 (1869-1870) ได้นิยามว่าผู้สืบตำแหน่งเปโตรมีศักดิ์เป็นพระสังฆราชแห่งโรม
ผู้สร้างสะพานของพระศาสนจักรสากล (Supreme Pontiff)
Pontiff มาจากคำภาษาละติน 2 คำ ที่แปลว่า "ผู้สร้างสะพาน" ต่อมาเป็น Pontifex maximus หมายถึง ผู้สร้างสะพานระหว่างพระเจ้าและสิ่งต่างๆ (mortals)
ผู้รับใช้แห่งผู้รับใช้ทั้งหลายของพระเป็นเจ้า (servus servorum Dei) สมเด็จพระสันตะปาปาเกรโกรี่มหาราช (590-604) เป็นผู้ใช้ครั้งแรกโดยนำมาจากคำตรัสของพระเยซูเจ้าว่า "ผู้ใดที่ปรารถนาจะเป็นคนที่หนึ่งในหมู่ท่าน ก็จะต้องทำตนเป็นผู้รับใช้ทุกคน" (มก 10:44) และใช้กันทั่วไปหลังสมเด็จพระสันตะปาปาเกรโกรี่ที่ 7 (1073-1085)
ในขณะที่ตำแหน่งสูงสุดของพระศาสนจักรว่างลง เราควรอธิษฐานภาวนาแด่พระสันตะปาปาผู้ล่วงลับ และภาวนาเพื่อการเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่จะได้บรรลุผลสำเร็จด้วยดีครับ
(อุดมสารรายสัปดาห์ ฉบับที่ 16-17, 17-30 เมษายน 2005)
|
|