บาปต้น
แม่ของลูกสาวครอบครัวหนึ่ง กลุ้มใจที่ลูกสาวเก่งขึ้น พูดภาษาต่างประเทศได้ดี แต่ลูกไม่ค่อยศรัทธา เริ่มไม่อยากไปวัด ทั้งๆ ที่แม่เป็นคนดี ศรัทธา ช่วยงานของวัดสม่ำเสมอ และรับผิดชอบครอบครัวดีมาก
ส่วนลูกชายวัยรุ่นอีกครอบครัวหนึ่งถามว่า ใครเป็นคนเรียกบาปต้นเป็นคนแรก และบาปต้นมาจากไหน?
ผมไม่เคยนึกว่าเด็กผู้ชายจะถามปัญหาในลักษณะเช่นนี้ แต่ก็ดีเหมือนกัน ทำให้ผมต้องไปค้นคว้า
ในประสบการณ์ชีวิตของเราชาวคริสต์ คุ้นกับคำว่า บาปต้น (Capital sins) ในหนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 1866 อ้างชื่อนักบุญยอห์น คาสเซียโน และนักบุญเกรโกรีองค์ใหญ่ (ค.ศ.540-604) ในเรื่องนี้ และอธิบายว่า บาปต้นมี 7 ประการ คือ จองหอง (pride) ตระหนี่ (avarice) อิจฉา (envy) โมโห (wrath, anger) ลามก (lust) โลภอาหาร (gluttony) และเกียจคร้าน (sloth) มันทำให้เกิดบาปอื่นๆ และพยศชั่วอื่นๆ (vices)
คุณธรรม 7 ประการ ที่ตรงข้ามกับพยศชั่วเหล่านี้คือความสุภาพ (humility) ความโอบอ้อมอารี (liberality) ความรักฉันพี่น้อง (brotherly love) ความใจดีอ่อนโยน (gentleness) ความบริสุทธิ์ (chastity) การรู้จักประมาณตน (Temperance) และความขยัน (diligence)
คุณพ่อไพบูลย์ อุดมเดช เคยให้ข้อคิดกับผมว่าที่เราใช้คำว่าบาปต้น (capital sins) ในแง่ที่ว่ามันเป็นต้นเหตุให้เราทำบาป แต่เมื่อเรามีความรู้สึกเหล่านี้ ยังไม่เป็นบาป (จึงเรียกว่า บาปต้น) จนกว่าเราคล้อยตามและปฏิบัติต่อจากนั้น โดยรู้ตัวและเต็มใจจึงบาป คุณพ่อไพบูลย์เห็นว่า น่าจะเรียกว่า พยศชั่ว (vice) จะดีกว่า
นักบุญเปาโล อ้างรายการบาปใน 1 คร. 6:9 - 10; กท.5:5; คส.3:5; 1ทธ 1:19 - 20
เมื่อเรารู้ว่าอะไรเป็นบาป ควรพยายามหลีกเลี่ยง ดังเช่นรู้ว่าที่ใดมีสุนัขดุ ก็ไม่ควรไปใกล้ ใช่ไหมครับ!
(อุดมสารรายสัปดาห์ ฉบับที่ 32, 3 - 9 สิงหาคม 2003)
|