การฟื้นฟูวัด
ผมได้รับหนังสือภาษาอังกฤษชื่อ PARISH RENEWAL แปลเป็นไทยว่า การฟื้นฟูวัด เขียนโดย คุณพ่อโดนัลด์ แฮริงตัน พระสงฆ์แห่งสังฆมณฑลดับลินประเทศไอร์แลนด์ เป็นอาจารย์สอนเทววิทยาที่สถาบันมาแตร์เดอี และเป็นสมาชิกในทีมผู้ประสานงานด้านอภิบาล ในการฟื้นฟูวัดในสังฆมณฑล
หนังสือชุดนี้มี 2 เล่ม กล่าวถึงประสบการณ์ที่พวกเขาเรียนรู้ 10 ปี
เกี่ยวกับการพัฒนาวัด ว่าเป็นวิถีทางใหม่ของการอยู่ร่วมกันในเขตวัด การเชิญชวนให้ทุกคนได้คิดเกี่ยวกับวัดในรูปแบบใหม่ ประชาชนในเขตวัดมีประสบการณ์ใหม่ มีสำนึก มีความหวังในเขตวัดต่างๆ รวมพลังกันในการพัฒนาสังฆมณฑล
เล่ม 2 เป็นทรัพยากรต่างๆ ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นในขบวนการฟื้นฟูวัดในสังฆมณฑล
ผมขอแปลสรุป เพราะเวลาและเนื้อที่ " คำสอน 5 นาที " มีจำกัด อาจจะมีประโยชน์ต่อคุณในการพัฒนาชุมชนวัดของเราบ้าง ประสบการณ์ของดับลิน
ใน ค.ศ.1985 พระสังฆราช เควิน แม็ค นามาร่า ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและฟื้นฟูวัด ประกอบไปด้วยพระสงฆ์ ฆราวาส และนักบวช เพื่อวิจัยและดำเนินการฟื้นฟูวัดในสังฆมณฑล
คณะกรรมการเริ่มปรึกษากับบรรดาพระสงฆ์ ด้วยการตั้งคำถาม 2 ข้อ คือ 1.ในการพัฒนาวัด เราต้องการอะไรบ้าง ? 2.คุณต้องการให้สังฆมณฑลช่วยเหลือด้านใด ?
คำตอบคำถามข้อแรก มี 4 ประเด็น สำคัญ คือ การมีส่วนร่วมของฆราวาส การอบรม ความเชื่อแก่ผู้ใหญ่ การฟื้นฟูพระสงฆ์ และ งานเยาวชน
คำตอบคำถามข้อที่สอง ต้องการมีศูนย์อภิบาล ต้องการผู้เชี่ยวชาญ งานอภิบาลคอยช่วยเหลือวัด ให้การปรึกษา และเพื่อกำหนดนโยบายด้านงานอภิบาลในสังฆมณฑล สังเกตได้ว่าความช่วยเหลือสำคัญที่สุดที่วัดต้องการมิใช่ด้านวัตถุ แต่ต้องการผู้เชี่ยวชาญ ที่สามารถทำงานกับวัดต่างๆ คอยตอบสนองความต้องการเพื่อการฟื้นฟูวัด
การฟื้นฟูวัดของดับลิน ไม่ได้เริ่มจากคำประกาศสั่งออกไป ซึ่งอาจมีเสียงคัดค้าน ขบวนการฟื้นฟูนี้เริ่มจากการฟัง และตอบสนองสิ่งที่ได้ยิน กำหนดการเริ่มจากบุคคลภายในสังฆมณฑล คือ พระสงฆ์และสัตบุรุษในเขตวัด โดยมีจิตตารมณ์ของการฟัง และมีส่วนร่วมรับผิดชอบเพื่ออนาคตของวัด
บุคลากร
หลังจากการปรึกษาหารือ การประชุมต่างๆ คณะกรรมการได้จัดทำรายงาน และข้อเสนอแนะแก่พระอัครสังฆราช กลางปี ค.ศ.1988 พระอัครสังฆราชได้แต่งตั้ง 6 คน ทำงานเต็มเวลาเป็นผู้ประสานงานเพื่อการฟื้นฟูวัดในสังฆมณฑล โดยที่แต่ละคนรับผิดชอบหนึ่งเขตการปกครองในสังฆมณฑล และมีหนึ่งคนเป็นหัวหน้า
บทบาทของผู้ประสานงานนี้คือ ต้องช่วยเริ่มกระบวนการฟื้นฟูวัดในเขต คอยสนับสนุน และช่วยเหลือ
นอกจากนี้ ผู้ประสานงานแต่ละเขตต้องสร้าง ทีมของเขต ประกอบด้วยพระสงฆ์ นักบวช และฆราวาสที่อุทิศตน
บทบาทของเขตคือ พิจารณาฟื้นฟูวัดในเขต ความต้องการ ความเป็นไปได้ และวิธีการพัฒนา เพื่อรวมพลังและให้กำลังใจต่อกลุ่มต่างๆ ในแต่ละวัด
ทีมผู้ประสานงานของเขตเมื่อเริ่มงาน ก็พบว่าต้องการความช่วยเหลือชัดเจน ใน ค.ศ.1991 จึงมีการแต่งตั้งผู้ประสานงานเพิ่มอีกคนหนึ่ง คอยประสานงานกับสังฆมณฑลอื่นๆ จุดมุ่งหมายอยู่ที่วิธีการ
ในการทำงานสิ่งที่สำคัญที่สุดอยู่ที่ วิธีการดำเนินงานมากกว่า รู้ว่าควรทำอะไร ทุกขั้นตอน ผลสำเร็จอยู่ที่จิตตารมณ์แห่งการฟังและการร่วมมือกัน ทั้งในระดับสังฆมณฑล ในระดับเขต และระดับวัด
รูปแบบ 2 ประการ
ประสบการณ์ของแต่ละวัดย่อมแตกต่างกัน ไม่ใช่มีรูปแบบเดียวใช้ได้กับทุกสภาพ แต่อย่างไรก็ตามมิได้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เราพอกำหนดได้ 2 รูปแบบ จากประสบการณ์มากกว่า 100 วัดในดับลิน
แบบหนึ่งเริ่มจากกลุ่มเล็ก อีกแบบหนึ่งเริ่มจากกลุ่มใหญ่ ทั้งสองแบบต้อง เริ่มจากพระสงฆ์ที่วัด เพราะการฟื้นฟูวัดมิใช่ถูกบังคับให้ทำ แต่เริ่มจากการเชิญบุคลากรในวัด ดังนั้นก้าวแรกต้องพบพระสงฆ์เจ้าอาวาส หรือพระสงฆ์ทุกองค์ หรือทีมของวัด ทั้งนักบวชและฆราวาสพร้อมร่วมงาน
ต้องจัดประชุมชี้แจงให้เข้าใจตรงกัน มีวิสัยทัศน์ มีฝันฟื้นฟูวัดร่วมกัน แล้วจึงร่วมงานอื่นๆ ด้วยความเข้าใจ และอุทิศตนแบบมีส่วนร่วม
ในสังฆมณฑลของเรา มีโครงสร้างการบริหารงาน มีสภาอภิบาลระดับสังฆมณฑลและระดับวัด มีการประสานงานระดับเขต หากมีผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประสานงาน การสร้างทีมของวัด ของเขต และของ สังฆมณฑลจริงๆ ชุมชนวัดของเราเข้มแข็งขึ้นแน่
วิทยาลัยแสงธรรม และ ศูนย์อบรมคริสตศาสนธรรม ถือเป็น 2 สถาบันที่สำคัญในการผลิตบุคลากรร่วมฟื้นฟูวัด
ขอแม่พระผู้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ องค์อุปถัมภ์ของประเทศไทย นำเราไปสู่ " หนทาง " ที่ถูกต้องในการพัฒนาฟื้นฟูชีวิตในเขตวัดทุกสังฆมณฑล
(อุดมสารรายสัปดาห์ ฉบับที่ 32, ประจำวันที่ 6 สิงหาคม - 12 สิงหาคม 2000)
|