คำสอน 5 นาที - หมวดบทความ |
||||||||
สองอาทิตย์ที่ผ่านมา มีข่าวจากสื่อมวลชนบางแหล่งว่า วาติกันแถลงเรื่อง บาปหนักสมัยใหม่ 7 ประการ ว่าเป็นผลพวงของยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งยากที่ใครจะหยุดกระแสนี้ได้ คือ 1. มลภาวะด้านสภาพแวดล้อม (Environmental Pollution) 2. การใช้ยีนของมนุษย์ในทางผิดศีลธรรม (Genetic manipulation) 3. ความร่ำรวยขึ้นจนเกินไป (Accumulating excessive wealth) 4. การทำให้เกิดความยากจน (Inflicting poverty) 5. การมีส่วนในการเสพและค้ายาเสพติด (Drug Trafficking and Consumption) 6. การค้นคว้าทดลองที่ยังไม่สรุปตกลงด้านศีลธรรม (Morally debatable experiments) 7. การละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานตามธรรมชาติของมนุษย์ (Violation of fundamental rights of human nature) พระอัครสังฆราชยันฟรังโก จิรอตติ ได้จัดสัมมนาพระสงฆ์ที่กรุงโรม เพื่อทบทวนการปฏิบัติด้านศีลอภัยบาปในพระศาสนจักร มีการวิจัยของมหาวิทยาลัยคาทอลิก แสดงผลว่า ร้อยละ 60 ของชาวอิตาเลียนในรอบสิบปีที่ผ่านมา ไม่ได้รับศีลอภัยบาป และไม่ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 ได้แสดงความเห็นว่า เรากำลังสูญเสียสำนึกเรื่อง บาป หากเราไม่ไปสารภาพให้สม่ำเสมอ ทีละน้อยเราจะเย็นเฉยเรื่องชีวิตฝ่ายจิต สมเด็จพระสันตะปาปาทรงสารภาพบาปสัปดาห์ละครั้งสม่ำเสมอ บาปหนักในสมัยนี้ พระอัครสังฆราชยันฟรังโก จิรอตติ ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ลอสแซร์วาตอเร โรมาโน ของวาติกัน ว่า บาปรูปแบบใหม่ที่อันตรายมากที่สุด คือ แวดวงจริยศาสตร์ด้านชีวภาพ การทำลายธรรมชาติสภาพแวดล้อมของมนุษย์ การทำแท้ง และการกระทำชำเราเด็กผู้ชาย (paedophilia) คุณพ่อเจอรัลด์ โอ คอลินส์ อาจารย์เทววิทยาด้านศีลธรรมของมหาวิทยาลัยคาทอลิกในกรุงโรม เห็นด้วยกับการสอนเรื่องบาปหนักสมัยใหม่นี้ พ่อคิดว่า สาเหตุใหญ่ประการหนึ่ง อยู่ที่บรรดาพระสงฆ์ผู้โปรดศีลอภัยบาป ยังไม่ตระหนักถึงความชั่วร้ายจริงๆ บางประการในโลก เราพระสงฆ์ต้องตระหนักยิ่งขึ้นถึงโฉมหน้าของบาปใน แง่สังคม ความไม่เสมอภาคในระดับส่วนรวม บางคนคิดถึงบาปในเรื่องส่วนตัวเกินไป บรรดาผู้ฟังแก้บาปควรมีสำนึกถึงเรื่องปัญหาความรุนแรง และความอยุติธรรม การไม่สอนประชาชนให้ตระหนักจะเป็นบาปประการหนึ่ง คือ ความเกียจคร้าน เย็นเฉย และไม่ร่วมมือแก้ไขปัญหา น่าสนใจที่ข้อสังเกตเหล่านี้มาจากผู้รับผิดชอบเรื่องนี้ของวาติกัน (Apostolic Penitentiary) เช่น การสนใจเรื่องมลภาวะของสิ่งแวดล้อม และความอยุติธรรมในสังคม (ข้อมูลจาก BBC) |
||||||||
จาก : หนังสือพิมพ์ข่าวสารคาทอลิกรายสัปดาห์ อุดมสาร ปีที่ 32 ฉบับที่ 14 ประจำวันที่ 30 มีนาคม 5 เมษายน 2008 |
||||||||