พระพรยามเจ็บป่วย
สมัยปัจจุบันมีคนป่วยทวีจำนวนขึ้นมาก ไม่ว่าความป่วยไข้ที่ มาจากเชื้อโรค เช่น เอดส์ ไวรัส ฯลฯ หรือความป่วยไข้ที่ มิได้มาจากเชื้อโรค เช่น มะเร็ง ความเครียด อุบัติเหตุ โรคหัวใจ ตับแข็ง ฯลฯ
ความป่วยไข้นี้มาจากสาเหตุต่างๆ กันไป ไม่ว่าอาจมาจากความไม่รู้จักป้องกันตัว การไม่สนใจ ไม่รู้จักกิน ทำงานล่วงเวลา แข่งกันหาเงินมาเพื่อปากท้องของตนเองและคนที่เราต้องรับผิดชอบ เพื่อความสุข สะดวกสบาย เพื่อความมั่นคงในชีวิต หรือทำตามหน้าที่ก็ตาม ฯลฯ
ผมมีโอกาสไปนอนพักรักษาตัว เพราะโรคตับอักเสบเรื้อรัง เป็นสมาชิกในโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ 1 เดือน ทำให้มีโอกาสพักผ่อน ท่านอาหารเป็นเวลามากขึ้น ผมมีโอกาสไตร่ตรองชีวิต สวดภาวนามากขึ้น ทำให้เข้าใจผู้ป่วยมากขึ้นอีก (เล็กน้อย) ทำให้มีเวลาพบกับพี่น้องหลายคน ซึ่งเวลาปกติก็มิค่อยได้พบกัน
ผมมีโอกาสอ่านหนังสือพิมพ์ ติดตามข่าวคราวการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ข่าวการจับบาทหลวง 13 คนเป็นตัวประกันในประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อเรียกร้องเงิน 6 ล้านบาท ความขัดแย้งในหมู่ประชาชนที่เกาะโมลุกกะ ประเทศอินโดนีเซีย จนต้องหลบหนีออกไป
ผมมีโอกาสดูสารคดีชีวิตธรรมชาติ ทำให้รู้จักกำเนิดชีวิตสัตว์อีกมากขึ้น น่าพิศวงใจยิ่งนัก
การรักษาสุขภาพ นับเป็นศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
แต่น่าเศร้าใจที่ประเทศกำลังพัฒนาในเอเซีย สาธารณสุขขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชนยังมีไม่เพียงพอ
สิ่งที่น่าเป็นห่วงมาก ก็คือ มีการพยายามที่จะทำให้เรื่องของการสาธารณสุขเป็นเรื่องการค้า
เทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันนี้ แม้ว่าจะเป็นการค้นพบที่น่ามหัศจรรย์ แต่ก็กลายเป็นอุตสาหกรรม การซื้อขายด้านเภสัชกรรมที่ทำกำไรให้อย่างมหาศาล และทำให้คนยากจนไม่สามารถซื้อหาได้ แม้แต่ยาที่จะช่วยชีวิตของตนไว้ (ดู ศาสนจักรในเอเซียกับการพัฒนา สาสน์ของที่ประชุมสหพันธ์สภาพระสังฆราชแห่งเอเซีย (FABC) ครั้งที่ 6, ชมรมนักบวชหญิงจัดพิมพ์ ตุลาคม 2538, หน้า 32)
บรรดาพระสังฆราชแห่งเอเซียได้ยืนยันว่า " พระศาสนจักรได้ใช้ทรัพยากรในปริมาณมากพอสมควรในสถาบัน และองค์กรต่างๆ ในงานด้านการดูแลสุขภาพ ที่ต้องเผชิญกับการท้าทายใหม่ๆ ในบริบทเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน พระศาสนจักรดำเนินงานด้านการดูแลสุขภาพอย่างเสมอภาคและที่จำเป็น ซึ่งมีลักษณะองค์รวม ความสามารถในการดูแลรักษา ความเมตตากรุณา และความยุติธรรม โดยบริการแก่ทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนยากจนนั้นก็คือ การรับใช้ชีวิต ซึ่งเป็นภารกิจ อันเป็นเครื่องหมายสำหรับพระศาสนจักร ภารกิจนี้เรียกร้องให้มีการปรับเปลี่ยนแนวคิดของสถาบันที่ทำงานด้านการดูแลสุขภาพ และเรียกร้องให้ทำหน้าที่ประกาศก ต่อต้านการถือสุขภาพเป็นสินค้า " (ดูหน้า 50 - 51 )
ขอบคุณที่เรามีแพทย์ พยาบาล ผู้ร่วมงาน ภคินี ภราดา และพระสงฆ์ ที่ทำงานด้านนี้เป็นพิเศษ ในโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ โรงพยาบาลเซนต์แมรี่ โรงพยาบาลคามิลเลียน สถานพยาบาลมารีย์อุถัมภ์ เกาะสมุย คอยอภิบาลผู้ป่วย
เพราะเจ็บป่วยครั้งนี้ ทำให้ผมมีโอกาสร่วม โครงการพักภารกิจฟื้นฟูชีวิตพระสงฆ์ 6 อาทิตย์ (10 ก.ค. - 28 ส.ค. 2000) ณ ศูนย์อบรมงานอภิบาลบ้านผู้หว่าน
ผมได้รับคำแนะนำการปฏิบัติตนเมื่อกลับบ้านว่า ควรพักผ่อนอย่างเต็มที่ ห้ามทำงานหนัก จนกว่าจะรู้สึกหายเพลีย ควรดื่มน้ำมากๆ ควรรับประทานอาหารพวกแป้งและน้ำตาลให้มากขึ้น เช่นดื่มน้ำหวานบ่อยๆ ห้ามดื่มสุรา เพราะอาจทำให้โรคเรื้อรังหรืออาจกำเริบใหม่ได้
ผมเขียนอย่างนี้ เพื่อเป็นกำลังใจกับผู้ป่วยทุกคน และเพื่อคุณจะได้ไปตรวจสุขภาพบ้าง โรคฝ่ายกายยังพอตรวจได้ ถ้าเรายอมให้แพทย์ตรวจ ส่วนโรคฝ่ายจิตนี่สิสำคัญยิ่งกว่าอีก
" ข้าแต่พระอาจารย์ ผู้ที่ท่านทรงรักกำลังป่วย " (ยน.11:13) " ดิฉันทราบว่า ทุกสิ่งที่ท่านวอนขอพระเป็นเจ้าจะโปรดประทานให้ " (ยน.11:22)
(อุดมสารรายสัปดาห์ ฉบับที่ 30, ประจำวันที่ 23 - 29 กรกฎาคม 2000)
|
|