สมัชชาฯกรุงเทพฯ: ฟื้นฟูชีวิตและพันธกิจ
การปรับตัวให้เท่าทันกับสภาพแวดล้อมเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตและการทำงาน เป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่ตลอดเวลา ผู้ที่สามารถปรับตัวได้ทันเวลาและอย่างเหมาะสมจึงจะสามารถอยู่รอดได้ และตรงกันข้ามผู้ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน บางทีก็ต้องล้มตายสูญหายกลายเป็นอดีตไปในที่สุด ไม่ว่าจะธุรกิจ อาชีพ หน้าที่ การงาน การศึกษา ครอบครัว และชีวิตของแต่ละคน ฯลฯ
ศาสนาก็เช่นเดียวกันเพราะประกอบด้วยผู้คนจำนวนมาก และอยู่ท่ามกลางโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอด ก็ได้ปรับตัวมาเป็นระยะ เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม การปรับตัวเมื่อต้องติดต่อกับผู้คนที่ต่างความเชื่อ วัฒนธรรม เชื้อชาติ การปรับตัวจากสังคมเกษตรกรรมมาเป็นสังคมอุตสาหกรรม
การประชุมสังคายนาสากลตั้งแต่สมัยอัครสาวกที่เยรูซาเล็ม จนถึงสมัยสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 (ค.ศ.1962-1965) จำนวน 21 ครั้ง และสมัชชา 12 ครั้ง
ในประเทศไทย เมื่อบรรดามิสชันนารีได้เข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในศตวรรษที่ 16 ได้พยายามปรับการทำงานให้เหมาะสมกับสยามในสมัยนั้น ได้มีประชุมสมัชชาอยุธยา (Synod Ayutthaya) ขึ้นในค.ศ.1665 มีพระสังฆราชฟรังซัวส์ ปัลลือ พระสังฆราชลังแบร์ต เดอลาม็อตต์ และพระสงฆ์ ได้มีมติที่ออกมาที่สำคัญคือ
1. ให้ก่อตั้งนักบวชชาย-หญิงรวมทั้งฆราวาสพื้นเมืองขึ้น ชื่อว่า "คณะรักไม้กางเขนแห่งพระเยซูคริสต์" แผนนี้ได้ทำเพียงบางส่วนคือนักบวชหญิง ซึ่งมีผลดีมาถึงทุกวันนี้ทั้งในเวียดนามและประเทศไทย
2. จัดพิมพ์คำสั่งสอนสำหรับมิสชันนารี 3. สร้างบ้านเณรเพื่ออบรมคนพื้นเมืองเป็นพระสงฆ์
พระศาสนจักรได้เจริญก้าวหน้ามาถึงทุกวันนี้ รับใช้สังคมไทยและเอเชียได้ก็เพราะเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลง "เครื่องหมายแห่งกาลเวลา" (Sign of the time) การประชุมเพื่อทบทวนการทำงาน ประเมินผล และวางแผนการทำงานสำหรับอนาคตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอมาจนกระทั่งหลังสุดเมื่อมีประชุมระดับประเทศ เพื่อกำหนดทิศทางงานอภิบาล ค.ศ.2000-2010 นับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่ง และแต่ละสังฆมณฑลต่างก็มีการประชุมเพื่อหาแนวทางการปฏิบัติทั้งในระดับพระสงฆ์ นักบวช และฆราวาส และในทุกหน่วยงาน
พระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ประมุขอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ได้รับข้อเสนอของสภาสงฆ์ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ.2004 ที่เสนอให้จัดประชุมสมัชชาอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ขึ้น และได้แต่งตั้งให้คุณพ่อเกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช เป็นเลขาธิการสมัชชาครั้งนี้
การเปิดประชุมสมัชชาอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ครั้งแรกตรงกับวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.2005 พระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู เป็นผู้ประกาศเปิดสมัชชาในโอกาสฉลองแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ และเป็นโอกาสฉลองอาสนวิหารอัสสัมชัญ
การประชุมสมัชชาแบ่งออกเป็น 2 สมัยคือ สมัยที่ 1 วันที่ 15-19 สิงหาคม ค.ศ. 2005 และสมัยที่ 2 วันที่ 3-6 ธันวาคม ค.ศ. 2005
คุณพ่อเกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช ได้ย้ำว่า "สิ่งที่สำคัญของสมัชชาคือ การมีส่วนร่วมกันของพระสงฆ์ นักบวช และฆราวาส ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธีคือ ภาวนาเพื่อการประชุม เสนอความคิดเห็นไปยังคณะกรรมการดำเนินการตอบแบบสอบถามเพื่อสำรวจความคิดเห็นและหาข้อมูล และการเข้าร่วมประชุมด้วยความเอาใจใส่จากผู้ที่ได้รับการแต่งตั้ง พร้อมทั้งการนำไปปฏิบัติให้เกิดผล"
(อุดมสารรายสัปดาห์ ฉบับที่ 26, 26 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม 2005)
|