คำสอน 5 นาที - หมวดบทความ

40 ปี  พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์

          พระศาสนจักรได้จัดสมัชชาสภาพระสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 เดือนตุลาคม ค.ศ.1962-1965 เพื่อพัฒนาชีวิตตนเองและความสัมพันธ์กับผู้อื่น  จึงออกเอกสาร 16 ฉบับ  ฉบับแรกคือเรื่อง พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งได้รับการอนุมัติเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ.1963
ธรรมนูญฉบับนี้ให้แนวปรับปรุงพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณให้ทันสมัยขึ้น ใช้ภาษาท้องถิ่นได้และให้ฆราวาสมีบทบาทเป็นศาสนบริกรในพิธีกรรม
         ธรรมนูญฉบับนี้ประกาศว่า  พิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณเป็นแหล่งกำเนิด และจุดรวมสูงสุดของชีวิตคริสตชน ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น  ปอล ที่ 2  ได้นำมาเป็นหัวข้อฉลองปีศีลมหาสนิท (ตั้งแต่ ตุลาคม ค.ศ.2004 - ตุลาคม ค.ศ.2005)
           เอกสารฉบับนี้ประกอบด้วย 130 หัวข้อ ใน 8 บทคือ หลักการทั่วไปสำหรับการฟื้นฟูและส่งเสริมพิธีกรรม  ธรรมล้ำลึกของศีลมหาสนิท  ศีลศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ  และสิ่งคล้ายศีล การสวดทำวัตร ปีพิธีกรรม ดนตรีศักดิ์สิทธิ์  ศิลปศักดิ์สิทธิ์  และการตกแต่ง (ในวัด)  และภาคผนวกเรื่องการปรับปรุงปฏิทินของพระศาสนจักร
         เมื่อเวลาผ่านไป 40 ปี  สมณกระทรวงพิธีกรรมและศีลศักดิ์สิทธิ์ได้ทบทวนประเมินผล ได้ออกเอกสาร 2 ฉบับที่น่าสนใจเป็นพิเศษ คือ
1. กฎทั่วไปสำหรับมิสซาตามจารีตโรมัน  คุณพ่อทัศไนย์ คมกฤส  ได้แปลเป็นภาษาไทยและคณะกรรมการฯ เพื่อพิธีกรรมได้จัดพิมพ์ในบทประจำมิสซาสำหรับพระสงฆ์ และพิมพ์เล่มพิเศษเมื่อกุมภาพันธ์ ค.ศ.2005
2.คำแนะนำในบางเรื่องที่ต้องปฏิบัติหรือต้องหลีกเลี่ยงเกี่ยวกับพิธีบูชาขอบพระคุณ (Redemptionis Sacramentum 25 มีนาคม ค.ศ. 2004) คุณพ่อทัศไนย คมกฤส  ได้แปลจากภาษาละตินเป็นภาษาไทย คณะกรรมการฯ เพื่อพิธีกรรมจัดพิมพ์  กุมภาพันธ์ ค.ศ.2005 เช่นกัน
         บรรดาพระสงฆ์กรุงเทพฯ จันทบุรี และราชบุรี ได้ศึกษาร่วมกันโอกาสฟื้นฟูจิตใจในต้นเดือนมิถุนายน  เพื่อพวกเราจะได้ประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณให้ถูกต้อง และมีชีวิตชีวาตามเจตนาของพระศาสนจักรสากล
         เนื้อหามี 186 ข้อ  ใน 8 บท กล่าวคือ 1. ระเบียบเรื่องพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์  2. การมีส่วนร่วมของฆราวาสในพิธีบูชาขอบพระคุณ  3. การถวายบูชามิสซาอย่างถูกต้อง  4. การรับศีลมหาสนิท 5. เรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับศีลมหาสนิท 6. การเก็บรักษาศีลมหาสนิทและการแสดงคารวกิจต่อศีลมหาสนิทภายนอกพิธีมิสซา  7. หน้าที่พิเศษของสัตบุรุษฆราวาส  8. วิธีการแก้ไข
         ท่านจะเห็นว่าบทที่ 2 และ บทที่ 7 เกี่ยวข้องกับฆราวาสโดยตรงมีกล่าวถึงผู้ช่วยพิธีกรรม ผู้อ่านพระคัมภีร์  และผู้ช่วยเหลือในพิธีกรรมจะต้องได้รับความรู้อย่างถูกต้อง  และต้องเป็นตัวอย่างการดำเนินชีวิตคริสตชนด้วยความเชื่อ มีความประพฤติดี  และมีความซื่อสัตย์ต่อคำสอนของพระศาสนจักร (ข้อ 46)
         ควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษในการอบรมครูคำสอน (ข้อ 148)
         ใครสนใจเอกสารเล่มใด  ติดต่อที่เบอร์โทรศัพท์  0-2681-3900 ต่อ 1413  E-mail:
thailiturgy@yahoo.com

(อุดมสารรายสัปดาห์  ฉบับที่ 25, 19-25 มิถุนายน 2005)

HOME