ชุบชีวิตด้วยมิตรภาพ
สิ่งหนึ่งที่สร้างความรู้สึกพิศวงให้เกิดกับนักจิตวิทยาการศึกษา คือ ทำไมคนบางคนมีพรสวรรค์ที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความหมายได้ ในขณะที่คนอื่นดูจะทำได้ยาก ทำไมเด็กที่ฉลาดและเก่งที่สุดในห้องเรียน มักจะไม่ใช้คนที่ประสบความสุขและความสำเร็จที่สุดตอนเป็นผู้ใหญ่ ทำไมกับคนบางคนเรารู้สึกเกิดความไว้วางใจทันทีตั้งแต่พบกันครั้งแรก และบางคนก็รู้ทันทีว่าไว้ใจไม่ได้ ทำไมบางคนกำลังใจดีเมื่อมีปัญหาและสามารถเริ่มต้นใหม่ได้เรื่อยๆ แต่บางคนจะหมดกำลังใจและยอมแพ้ได้ง่ายๆ
นักจิตวิทยา 2 ท่าน ปีเตอร์ ซาโลเวย์ จากมหาวิทยาลัยเยล และ จอห์น แมเยอร์ จากมหาวิทยาลัยนิวแฮมเชียร์ เป็นนักจิตวิทยาคู่แรกที่ใช้ศัพท์ EQ เมื่อประมาณ 10 ปีมาแล้ว อีคิว คือ สมรรถภาพในการที่จะเข้าใจและจัดการกับความรู้สึกของตนเองได้อย่างเป็นบวก สามารถเอาใจเขามาใส่ใจเรา สามารถควบคุมและใช้อารมณ์ของตนเองอย่างสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีในสังคมและความเข้าใจอันดีระหว่างบุคคล
หากอีคิวของนักเรียนได้เพิ่มขึ้น โอกาสคือ นักเรียนคนนั้นจะหางานทำได้ดีกว่า และก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้มากกว่า ชีวิตสมรสจะมีความสุข และจะปฏิบัติตนเป็นพลเมืองที่ดี มีส่วนสร้างสรรค์พัฒนาสังคมอย่างซื่อสัตย์สุจริต นักจิตวิทยาที่โด่งดังเรื่องอีคิว ชื่อ โกลแมน กล่าวว่า ในขณะที่นักเรียนยังเป็นเด็ก เขามี "หน้าต่างแห่งโอกาสของระบบประสาท" เพราะการเชื่อมโยงวงจรของปลายประสาทที่สมองส่วนหน้าซึ่งควบคุมพฤติกรรมและการควบคุมอารมณ์ของเรายังไม่พัฒนาเต็มที่ จนกระทั่งถึงช่วงกลางวัยรุ่น
นักจิตวิทยาโกลแมน ใช้เรื่องของ เมลเบิร์น แมคบรูม เป็นกรณีตัวอย่างเพื่อแสดงความสำคัญของอีคิว แมคบรูมเป็นนักขับเครื่องบินที่มีความรู้เชี่ยวชาญเรื่องเครื่องบิน แต่เขามีจุดบกพร่องที่สำคัญอยู่ประการหนึ่ง คือ เขาเป็นคนที่เห็นตัวเองเก่งวิเศษกว่าคนอื่นทั้งหมด พูดจาดูถูกเหยีดหยามคนอื่นเป็นประจำ อารมณ์ของเขาทำให้ลูกน้อยขยาด วันหนึ่งในปี ค.ศ.1978 เครื่องบินโดยสารที่เขาเป็นกัปตันเกิดเครื่องขัดข้องในส่วนของการนำเครื่องลงสู่พื้นดิน ซึ่งกำลังใกล้จะถึงจุดหมายแล้ว แมคบรูมจึงลุกจากที่นั่งกัปตันของเขาให้ผู้ช่วยขับแทน ตนเองรีบไปแก้ปัญหา เครื่องบินบินวนอยู่เหนือสนามบินรอการแก้ปัญหา ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ในห้องขับสังเกตเห็นว่าน้ำมันจะหมดอยู่แล้ว แต่ไม่มีใครสักคนกล้าบอกกัปตัน ทุกคนกลัวแมคบรูมเป็นอย่างมาก ในที่สุดเครื่องบินก็ตกและคนตาย 110 คน แมคบรูมเป็นคนที่ไอคิวสูง ฉลาดปราดเปรื่องมาก แต่อีคิวของเขาต่ำเหลือเกิน และผลลัพธ์คือโศกนาฏกรรม องค์กรบริหารการบินของสหรัฐอเมริกาทำการวิจัยและประมาณว่าอุบัติเหตุเครื่องบินตกร้อยละ 80 มาจากความผิดพลาดของนักบิน ซึ่งน่าจะป้องกันได้ถ้าทีมงานร่วมมือกันได้ดีกว่านี้ (อ้างอิงจากบทความ Social and emotional learning for leaders โดย Cary Cherniss ในนิตยสาร Educational Leadership ฉบับ เมษายน 1998)
เราจะช่วยบุตรหลานของเรามีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้อื่นได้อย่างไร? เราจะเป็นผู้นำในการเป็นผู้มีบทบาท " ชุบชูชีวิตด้วยมิตรภาพ " ได้อย่างไรบ้าง และเราจะเสริมสร้างอีคิวให้นักเรียนได้อย่างไร
คำตอบสำหรับคำถาม 2 - 3 ข้อข้างต้นนี้ คงจะอยู่ที่การช่วยให้บุตรหลานมีความตระหนักในความ รู้สึกและอารมณ์ของตนเอง สนับสนุนให้เปิดใจ และสามารถเข้าใจ
พูดบรรยายความรู้สึกของตนได้ สอนให้ฟังซึ่งกันและกันเป็น สามารถแสดงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เข้าใจปัญหาความต้องการและอารมณ์ - จิตใจของผู้อื่น สอนให้รู้จักควบคุมตนเอง ระงับอารมณ์โกรธ ความกลัว และกระวนกระวายใจ เข้าหาเพื่อนเป็น เราจะจัดหลักสูตรของเราให้มีเรื่องของการรู้ตัว รู้จักตนเอง การควบคุมตนเอง ทักษะการฟัง และการผูกมิตร ได้หรือไม่
พ่อแม่และครูไม่สามารถปกป้องวัยรุ่นไม้ให้ต้องพบปัญหาใดๆ ได้ แต่สามารถช่วยพวกเขาได้โดยให้ความสนใจเอาใจใส่เขามากขึ้น พ่อแม่และครูสามารถให้เวลาและพูดด้วยเป็นส่วนตัว เด็กทุกคนฟังเป็นเขาหยั่งรู้ได้ว่าใครสนใจเขาจริงจัง เขาพอใจและรู้สึกขอบคุณถ้าครูให้เวลากับเขา ฟังปัญหาและให้คำแนะนำอย่างห่วงใย ด้วยความจริงใจ
หากต้องการให้บุตรหลานของเราเข้าใจพระบัญญัติของพระเยซูเจ้าที่ว่า จงรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง พวกเขาต้องมีประสบการณ์กับความรักเช่นนี้ก่อน ด้วยความรักจากพ่อแม่และต่อจากนั้นก็คือความรักจากครูบาอาจารย์
(ข้อความข้างต้นเป็นข้อคิดของ คุณพ่อมิเกล กาไรซาบาล เขียน และ อาจารย์สุมิตรา พงศธร แปล ให้หัวข้อ การปฏิรูปการศึกษาด้วยจิตตารมณ์พระเยซูคริสตเจ้า ผมเห็นว่าเหมาะสมที่จะขอนำมาให้ท่านพิจารณาในช่วงปิดเทอม ตุลาคม ปีนี้)
(อุดมสารรายสัปดาห์ ฉบับที่ 41, ประจำวันที่ 7 - 13 ตุลาคม 2001)
|