ไม่นานภายหลังการประกาศผลเรื่องพระสันตะปาปาองค์ใหม่ ผู้รายงานข่าวทีวีชาวสหรัฐฯ คนหนึ่งบอกผู้ชมว่า  คาทอลิกในลาตินอเมริกา “ต้องรอคอยมาเป็นเวลานานถึง  20 ศตวรรษ กว่าจะได้สมเด็จพระสันตะปาปาจากภูมิภาคนี้”

ที่จริงก่อนหน้า  500 ปีที่แล้วมานี้  ไม่มีคาทอลิกเลยในลาตินอเมริกา ใช่  เราทุกคนทำผิดพลาดได้  แต่บางทีในกรณีนี้ สาเหตุของความผิดพลาดคงมิได้มาจากความตื่นเต้นดีใจเรื่องสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ใหม่ แต่มาจากความต้องการอันหยุดไม่อยู่ของสื่อมวลชนที่ต้องการรายงานเรื่อยเปื่อยตลอดเวลา

เมื่อเปรียบเทียบคำพูดเรื่อยเปื่อยตลอดเวลาของโลกปัจจุบัน  กับช่วงเวลาที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสยืนสงบนิ่งอยู่ที่ระเบียง ก่อนที่จะเริ่มปราศัยกับประชาชนนับแสนคนที่ลานสาธารณะนักบุญเปโตร  และต่อหน้าประชาชนทั่วโลกนับร้อยๆ ล้านคนแล้ว ความสงบเงียบของพระองค์นั้นสวยสดงดงาม และเต็มไปด้วยความหมาย  ที่ฉายทั้งภาพลักษณ์แห่งสันติสุขและโอกาสสำคัญไปพร้อมๆ กัน

และยิ่งมีความสงบเงียบยาวนานกว่านั้นตามมาอีก  เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสขอให้ผู้ร่วมชุมนุมที่นั่นร่วมกันอธิษฐานภาวนาเพื่อพระองค์  ความสงบเงียบที่ส่งผลสะท้อนไปอยู่ตามครอบครัวและโรงเรียนคาทอลิกทั่วทั้งโลกอย่างพร้อมเพรียงกันด้วย

ยุคของเราเป็นยุคที่มีเสียงดังอึกทึกครึกโครม  การฟังเสียงดังเกินกว่า  85 เดซิเบลติดต่อกันนานๆ สามารถทำลายหูมนุษย์ได้  ที่เมืองแมนแฮตตัน รัฐนิวยอร์ค  เสียงจากการจราจรอย่างเดียวดังถึง  79 เดซิเบล  (ระบบเดซิเบลเป็นแบบลอการิทึม  ดังนั้น 79 เดซิเบล จึงมีผลมากกว่า 69 เดซิเบลถึงสิบเท่า เสียงภายในเครื่องบินขนาดใหญ่ก็อยู่ในระดับ  69 เดซิเบล) สถาบันสุขภาพแห่งชาติบอกว่า เสียงดนตรีที่เราได้ยินทางหูฟังอาจดังถึง... เชื่อไหม... ประมาณ  110 เดซิเบล

เสียงดังขนาดนี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพของเราแน่นอน  อย่างไรก็ดี ปัญหาใหญ่มิได้อยู่ที่ระดับเสียงเท่ากับความยาวนานของเสียงเหล่านั้น  นับวันความสงบเงียบยิ่งหายากมากขึ้นทุกทีในสังคมเรา  คำพูดคุยเรื่อยเปื่อย  เสียงโครมครามแสบแก้วหูสารพัดตลอดเวลากำลังบ่อนทำลายประชาธิปไตย  จริงๆ นะครับ

สมเด็จพระสันตะปาปาองค์ก่อน คือ  เบเนดิกต์ ที่ 16  ได้ฝากคารมคมคายเรื่อง คุณค่าของความสงบเงียบไว้ดังนี้ “ในความสงบเงียบ  เราสามารถฟังและเข้าใจตัวเองได้ดีขึ้น ความคิดต่างๆ จะปรากฏชัดเจนและได้รับการกลั่นกรองไปสู่ความลึกซึ้ง  เราเข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้งกว่า ว่าเราอยากจะพูดอะไรและคาดหวังอะไรจากคนอื่น แล้วเราจึงสามารถเลือกวิธีการแสดงออกของตัวตนเราได้อย่างเหมาะสม  ด้วยความสงบนิ่งเงียบนั้น เรายอมให้บุคคลอื่นพูดและแสดงตัวตนของเขาออกมา ซึ่งเท่ากับว่า ไม่ผูกมัดกับคำพูดและความคิดเห็นของตนเอง  โดยไม่ได้ทดสอบสิ่งเหล่านั้นให้ดีเสียก่อน โดยวิธีนี้ เราจึงมีจิตว่างเพื่อรับฟังกันและกัน  ต่อจากนั้น  มนุษย์สัมพันธ์อันลึกซึ้งจึงจะเกิดขึ้นได้อย่างจริงจัง”
อีกนัยหนึ่ง  เราต้องการความสงบเงียบ  เพื่อสร้างความคิดเห็นที่ชัดเจนและเปี่ยมด้วยความเมตตากรุณา ท่ามกลางโลกที่มีแต่เสียงและสิ่งกระตุ้นเร้าตลอดเวลา เป็นเรื่องยากมากขึ้นทุกทีที่เราจะมีความคิดเห็นเที่ยงตรง  และสามารถตั้งใจฟังผู้อื่นด้วยความเข้าอกเข้าใจ ประชาธิปไตยที่แท้จริงและความรู้สึกร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันในโครงการส่วนรวม ไม่อาจดำรงอยู่ได้ท่ามกลางสถานการณ์เสื่อมทรามเช่นนี้

โทรศัพท์มือถือมีอยู่เกลื่อนกลาดดาษดื่นทุกแห่งหน  และทำให้สังคมของเรามีเสียงดังมากขึ้นทุกที ในอดีต คนที่เดินคนเดียวตามถนนหนทางก็มักจะเดินไปเงียบๆ แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่แล้ว ถ้าคุณเดินสวนทางกับคน  50 คน คุณคงต้องทนฟังการสนทนาถึง  45 ครั้ง  ยกเว้นกรณีที่ตัวคุณเองกำลังเป็นฝ่ายทำการสนทนาที่ทำให้คนอื่นต้องทนฟัง

ในศาสนาคาทอลิก และในศาสนาอื่นๆ อีกหลายศาสนา การไตร่ตรองและการพิศเพ่งภาวนาเป็นคุณธรรมที่น่ายกย่องชื่นชม แต่ความเงียบงันอึดอัดในสังคมที่เกิดมาจากการควบรวมโลกียวิสัยกับเทคโนโลยี  การไตร่ตรองและพิศเพ่งภาวนาดังกล่าว  กลับกลายเป็นความชั่วร้ายที่น่าสยดสยอง

บรรดานักการเมือง นักกิจกรรม ผู้บรรยาย  ผู้เขียนบล็อกต่างๆ ถูกคาดหวังว่าจะต้องมีคำตอบพร้อมสำหรับข่าวทุกๆ เรื่องเสมอ ถ้าเขาออกรายการทีวีหรือวิทยุแล้วเจอคำถามยากๆ การที่จะตอบว่า “ขอเวลาคิดดูหน่อย” กลับไม่ใช่เป็นลักษณะของบุคคลที่รู้จักคิด แต่กลายเป็นการหลบเลี่ยงปัญหาหรือเป็นความบกพร่องทางสติปัญญาไปเลย  นักเทววิทยา Cornelius Plantinga  เคยเขียนไว้ว่า  “การที่จะต้องทนดูคนอื่นกำลังคิดอยู่นั้น ช่างน่าเบื่อที่สุด”  แต่ถึงอย่างไร การมีเวลาเพื่อนึกคิดก็เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง หากเราสนใจที่จะได้คำตอบที่ถูกต้อง

ลองดูเกมหมากรุก  ตามกฎเกณฑ์สากล  ถ้าโทรศัพท์มือถือของผู้ร่วมเล่นมีเสียงดังระหว่างเกมนั้น ต้องถือว่า บุคคลผู้นั้นแพ้ทันที แม้กฎนี้เป็นวิธีป้องกันไม่ให้มีการทุจริต  แต่จุดเริ่มต้นของกฎอยู่ที่ความเป็นห่วงเรื่องการทำลายสมาธิของคู่เล่นเกม  เพราะเสียงจะรบกวนความแจ่มชัดเจนของความนึกคิด

ถ้าความซับซ้อนของเกมหมากรุกต้องการสมาธิอย่างเต็มที่  ความซับซ้อนของนโยบายด้านเศรษฐกิจหรือเกี่ยวกับการเงินแผ่นดินจะยิ่งต้องการสมาธิมากกว่านั้นอีกสักเท่าใด

ถ้าเราจะหาคำตอบต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ  เราต้องมีเวลาและมีจิตว่างพอที่จะนึกคิด  มิฉะนั้นเราก็จะไม่สามารถฟังหรือคิดอย่างมีเหตุผล คงมีได้ก็แต่ปฏิกิริยาโต้ตอบเท่านั้น และเมื่อมัวแต่มีปฏิกิริยาโต้ตอบกันมากกว่าที่จะฟังกันแล้ว โอกาสที่จะสนทนากันจริงๆ ก็จะเสื่อมค่าลงไปด้วย

เหตุผลที่ทำให้การเมืองทุกวันนี้กลายเป็นการตะโกนเอ็ดตะโรใส่กันนั้น  เป็นเพราะว่า  การเมืองในรูปแบบอื่นเรียกร้องให้ต้องมีเวลา  มีจิตว่าง มีสันติสุข และความสงบ

Hannah Arendt  ในหนังสือ “The Life of the Mind” เขียนไว้ว่า  “การนึกคิดทำลายตารางเวลาธรรมดา  รบกวนกิจกรรมธรรมดา  และกลับถูกรบกวนด้วยกิจกรรมเหล่านั้น”  แต่เราก็ต้องให้เวลากับการนึกคิด เธอย้ำเตือนเราว่า  แม้แต่นักปราชญ์อย่างโสเกรตีส  ก็ไม่ได้มีคำตอบเสมอ  และไม่ได้สนใจการสนทนาเสมอไป Arendt บอกว่า หลายต่อหลายครั้งที่เราเห็นโสเกรตีออกไปอยู่ตามลำพังเพื่อจะมีเวลานึกคิด

แล้วทั้งหมดนี้ก็นำเรากลับมาสู่จุดเริ่มต้น  เรื่องนักข่าวรายงานผิดพลาดเกี่ยวกับคาทอลิกในลาตินอเมริกาที่ต้องรอถึง  2000 ปี นักข่าวคนนั้นไม่มีบทเขียนต่อหน้าเขาและกำลังแถลงข่าวสดๆ ท่ามกลางฝูงชนขนาดใหญ่ หน้าที่ของเขาคือ ทำให้ทุกวินาทีเต็มไปด้วยคำบรรยาย จึงไม่มีเวลาใช้ปัญญาไตร่ตรองก่อนที่จะพูดอะไรออกไป

นั่นแหละคือประเด็นปัญหาของพวกเรา เราอยู่ในโลกที่ให้เวลาน้อยมาก  สำหรับการพิจารณาไตร่ตรอง

เราเป็นคนที่มีธุระยุ่งอยู่เสมอ มีน้อยคนนักที่สามารถลงแรงกับการเจียดเวลาเพื่อตรวจตราความนึกคิด แต่เราทุกคนก็ต้องปะติดปะต่อประเด็นความคิดต่างๆ ที่มีเข้าด้วยกันให้ได้  หากเราไม่มีเวลาที่จะแสวงหาความสงบเงียบ  เราก็จะเสียโอกาสที่จะนึกคิดอย่างชัดเจน  และหากเราไม่มีเวลาที่จะนึกคิดอย่างแจ่มชัด เราก็จะเสียโอกาสปกครองกันดีๆ แบบประชาธิปไตยด้วย

Stephen L Carter
Is a Bloomberg View columnist
And a professor of law at Yale University
Editorial in the Bangkok Post, March 16,2013
คุณพ่อพอล  พอลล็อค (SJ) แปล

Home

คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตศาสนธรรม แผนกคริสตศาสนธรรม
อาคารเลขที่ 122/11 ซ.นนทรี 14 (ซ.นาคสุวรรณ)  ถ.นนทรี  ยานนาวา  กรุงเทพฯ 10120